GPI ลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ

บอร์ดกรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนลอนุมัติใช้งบลงทุน 250 ล้านบาท ถือหุ้นทรูเอ็นเนอร์จี เพื่อลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะ นครสวรรค์ คาดเริ่มCODไตรมาส 3 ของปีนี้ เพิ่มความมั่นคงจากรายได้ประจำ

ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติเข้าซื้อหุ้น 25.45% ในบริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้า เพื่อเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ ในอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ กำลังการผลิตติดตั้ง 9 เมกะวัตต์ (MW) โดยใช้งบลงทุน 250 ล้านบาท ซึ่งมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งบริษัทจะได้รับสิทธิ์เป็นกรรมการในบริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด ส่วนทรูเอ็นเนอร์จีจะรับผิดชอบการบริหารโรงไฟฟ้าและการจัดหาขยะชุมชนเพื่อนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) เพื่อผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันมีแหล่งขยะเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อย

นายพีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ GPI กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีความคืบหน้าใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยจะได้รับ Adder หรือส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 3.50 บาทต่อหน่วย (Kwh) เพิ่มจากค่าไฟฐานเป็นระยะเวลา 7 ปีนับจากวันที่เริ่มต้นจำหน่ายไฟฟ้า

นอกจากนี้บริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด ได้ทำสัญญารับกำจัดขยะโดยวิธีคัดแยกกับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ มีอายุสัญญา 25 ปี (นับจาก 12 พฤศจิกายน 2558) เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า จากการประเมินปริมาณขยะจากบ่อฝังกลบของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ พบว่ามีปริมาณขยะจากบ่อฝังกลบ 3 แห่งรวมประมาณ 5 แสนตัน ในจำนวนนี้ประมาณ 70% สามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต มั่นใจว่าจะมีปริมาณขยะเพียงพอต่อการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ตลอดอายุสัญญาจำหน่ายไฟฟ้า นอกจากนี้ทรูเอ็นเนอร์จีวางแผนจัดหาแหล่งขยะสำรองโดยประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครสวรรค์และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น เทศบาลตำบลท่าตะโก เทศบาลเมืองตาคลี ฯลฯ รวมถึงได้เจรจากับภาคเอกชนเพื่อทำสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิง RDF เพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้มีมาตรการป้องกันและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่สอดคล้องกับเงื่อนไขและข้อกำหนดตามประมวลหลักการปฏิบัติ หรือ Code of Practice (COP) เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง อาทิ การออกแบบอาคารเป็นระบบปิด, ติดตั้งปล่องระบายมลพิษทางอากาศที่มีความสูงตามหลักเกณฑ์ Good Engineering Practice, มาตรการควบคุมการปล่อยสารมลพิษตามเกณฑ์มาตรฐาน, ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปล่องระบายมลพิษแบบต่อเนื่องและตรวจวัดคุณภาพอากาศปีละ 2 ครั้ง, ควบคุมคุณสมบัติเชื้อเพลิง RDF ได้ตามมาตรฐาน, ตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ ฯลฯ

ซึ่ง GPIประเมินว่าการลงทุนครั้งนี้จะใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5 ปี ประเมินอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return: EIRR) ที่ 11% ต่อปี ถือว่าค่อนข้างเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ จากปัจจุบันที่มีแหล่งรายได้จากธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าด้านยานยนต์และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ธุรกิจงานพิมพ์ และธุรกิจสื่อ


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment