กรมบัญชีกลางคว้ารางวัลองค์กรและบุคคลดีเด่นด้านการต่อต้านการทุจริตประจำปี 2568

นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า มูลนิธิต่อต้านการทุจริตได้จัดกิจกรรม การมอบรางวัลองค์กรและบุคคลดีเด่นด้านการต่อต้านการทุจริตประจำปี 2568 (Anti-Corruption Awards 2025) ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารอเนกประสงค์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ซึ่งกรมบัญชีกลางได้รับรางวัลองค์กรและบุคคลดีเด่นด้านการต่อต้านการทุจริต ประจำปี 2568 (Anti-Corruption Awards 2025) โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency Initiative: CoST) โดยได้มอบหมายให้นางภัทรพร วรทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง เป็นผู้แทนกรมบัญชีกลาง รับมอบรางวัลจากศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต

กรมบัญชีกลางเข้าเป็นสมาชิกของโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency Initiative) หรือ CoST ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2557 และเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 โดยในระยะแรก กรมบัญชีกลางได้เชิญชวนหน่วยงานของรัฐให้เข้าร่วมโครงการตามความสมัครใจ และต่อมาได้ขยายผลโดยกำหนดให้โครงการ CoST เป็นการดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ทำให้จำนวนโครงการก่อสร้างที่เข้าร่วมโครงการ CoST เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการเกิดความตระหนักที่จะต้องดำเนินงานโครงการก่อสร้างให้โปร่งใส มีคุณภาพ และต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการสู่สาธารณะตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุดโครงการ นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการพัฒนาระบบ CoST ใหม่ ให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ โดยการปรับปรุงและพัฒนาการแสดงผลข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบ Dashboard เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ หน่วยงานของรัฐที่จะเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างผ่านระบบ CoST และภาคประชาชนที่จะติดตามและตรวจสอบข้อมูลได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งประชาชนยังสามารถค้นหาโครงการก่อสร้างที่เข้าร่วมโครงการ CoST ในระยะ 10 15 และ 20 กิโลเมตร รอบตัวได้ และนักพัฒนาระบบสามารถดาวน์โหลดข้อมูลโครงการก่อสร้างที่เข้าร่วมโครงการ CoST ในรูปแบบ OC4IDS ซึ่งมีลักษณะเป็น json File เพื่อนำไปประมวลผลและพัฒนาต่อได้ ซึ่งระบบ CoST ใหม่ดังกล่าว ได้เปิดให้ใช้งานตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 โดยระบบ CoST สามารถนำเสนอประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลในการเสริมสร้างความโปร่งใสของภาครัฐ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้สามารถเข้าใจในกระบวนการ เข้าถึงข้อมูลที่ต้องการและนำไปสู่ประสิทธิภาพของการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความโปร่งใส (Transparency) จากการที่ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลการดำเนินงานโครงการก่อสร้างของหน่วยงานของรัฐได้


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment