{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ก.อุตฯ ชง ครม. ไฟเขียวเดินหน้ายกระดับข้าว-โคเนื้อ 'สนุกไรซ์พลัส-บีฟวัลเลย์' ทุ่ม 113 ล้าน หวังสร้างมูลค่า 1.1 พันล้าน
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบและเห็นชอบในหลักการโครงการที่เป็นข้อเสนอของภาคเอกชน (กรอ.) ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรวบรวมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ได้แก่ จังหวัดสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร หรือที่เรียกกันในชื่อ “กลุ่มจังหวัดสนุก” โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอ 2 โครงการสำคัญ ได้แก่ 1) โครงการสนุกไรซ์พลัส “SNUK RICE PLUS“ และ 2) โครงการบีฟวัลเลย์ “Beef Valley” รวมงบประมาณทั้งสิ้น 113.4 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 1,134 ล้านบาท และมีผลตอบแทนกลับคืนมาประมาณ 10 เท่า ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะบรรจุโครงการดังกล่าวในแผนปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และขอรับจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป โดยมีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้งสามของกลุ่มจังหวัดสนุก ร่วมเป็นหน่วยงานสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการ
โครงการที่เห็นชอบในการประชุม ครม. ครั้งนี้เป็น 2 ใน 21 โครงการของกลุ่มจังหวัดสนุก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินงาน ประกอบด้วย
1. โครงการสร้างเศรษฐกิจกลุ่มสนุกด้วยอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวมูลค่าสูง "SNUK RICE PLUS" (SNUK RICE+) งบประมาณ 61.4 ล้านบาท มีเป้าหมายหลักในการยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวในพื้นที่ โดยนำข้าวซึ่งเป็นผลผลิตหลักของเกษตรกรในภาคอีสาน มาพัฒนากระบวนการผลิตให้ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูป และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากข้าว
รวมถึงการนำผลพลอยได้ (By-product) และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า เช่น แป้งรำข้าว ผลิตภัณฑ์จากแกลบ หรือเยื่อข้าว อีกทั้งยังมีการสร้างแบรนด์ “สนุกไรซ์” ให้เป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาค พร้อมส่งเสริมกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหาเผาตอซังข้าวหลังเก็บเกี่ยว ภายใต้แนวคิด “SNUK Rice Model: พัฒนา 100 คน 110 กิจการ 150 ผลิตภัณฑ์ และสร้างโมเดลต้นแบบ 10 กิจการ” ซึ่งเน้นการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่และผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้สามารถต่อยอดอุตสาหกรรมข้าวได้อย่างยั่งยืน โดยดำเนินการยกระดับมาตรฐานการผลิตสู่ระดับสากล มีการสร้างเครือข่ายธุรกิจ จับคู่เจรจาทางการค้า และการพัฒนาสินค้าสู่ตลาดระดับภูมิภาคและระดับสากล นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมด้านการตลาดผ่านเทศกาลต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวด้วย
2. โครงการยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปโคเนื้อ "Beef Valley" งบประมาณ 52 ล้านบาท มุ่งเน้นยกระดับอุตสาหกรรมโคเนื้อในกลุ่มจังหวัดสนุกให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปโคเนื้อที่มีมาตรฐานระดับโลก โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพเนื้อโคในทุกมิติ ตั้งแต่สายพันธุ์ วิธีการเลี้ยง การจัดการหลังการเชือด และการแปรรูป รวมถึงการสร้างแบรนด์ “SNUK Beef Valley” พัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปโคเนื้อเน้นเป็นคนรุ่นใหม่และผู้ประกอบการในพื้นที่ 200 คน 130 กิจการ 130 ผลิตภัณฑ์ และสร้างโมเดลต้นแบบ 3 กิจการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ และจัดกิจกรรมด้านการตลาดผ่านเทศกาลเนื้อ “สนุก Beef Festival”
รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม เช่น โรงเชือดมาตรฐาน โรงแปรรูปเนื้อ เครื่องจักรแปรรูป และเทคโนโลยีถนอมอาหาร รวมทั้งจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรมโคเนื้อของภาคอีสานให้เป็น “ผู้นำตลาดของภูมิภาคอาเซียน” ต่อไป
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งสองโครงการเป็นต้นแบบของการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมตามนโยบายนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้านการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ในการเสริมความแกร่งของห่วงโซ่อุปทานและการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ชึ่งมาจากการวิเคราะห์ปัญหา (pain point) และเป็นความต้องการของภาคธุรกิจผ่านการประชุม กรอ. และการรับฟังความเห็นของภาคเอกชนในพื้นที่ ก่อนเสนอ ครม. รับทราบและเห็นชอบโครงการทั้งสอง
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะบุคลากร และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพที่ต้องการเข้าร่วมพัฒนาในโครงการ ให้สามารถขอสินเชื่อภายใต้กองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ มาเป็นเงินทุนในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดสนุกเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ทั้งนี้ คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในจังหวัดนครพนม จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1) บริษัท ไรซ์แฟคทอรี่ จำกัด เพื่อติดตามผลการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ได้รับสินเชื่อ “เสือติดปีก” วงเงิน 9 ล้านบาท ซึ่งได้เชิญผู้แทน โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ มาร่วมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก เพื่อเพิ่มโอกาสธุรกิจและขยายสายการผลิตเพิ่มเติม 2) วิสาหกิจชุมชนกะละแมทูลใจ ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นสินค้าพื้นถิ่นและของฝากที่ระลึกต้อนรับ ครม. กระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งเสริมด้วยการใช้ Soft Power เพื่อให้เป็นที่รู้จักวงกว้าง รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยืดอายุผลิตภัณฑ์ให้เก็บได้นานยิ่งขึ้น
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS