{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 105.03 หดตัวร้อยละ 0.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 9.21 โดยได้แรงหนุนจากรัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ทั้งนี้ ต้องจับตาการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 105.03 หดตัวร้อยละ 0.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสแรก ปี 2568 อยู่ที่ระดับ 99.96 หดตัวร้อยละ 1.86 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2568 ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 9.21 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 63.68 สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมกลับมาผลิตเพิ่มขึ้น
โดยปัจจัยสนับสนุนหลักต่อภาคการผลิต ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการผ่อนคลายเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 2 เฟส โครงการคุณสู้เราช่วย การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และการปรับลดราคาน้ำมันลง รวมถึงการค้าระหว่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง มีมูลค่าส่งออกรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.80 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัวร้อยละ 18.00 โดยสินค้าส่งออกหลักที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทอง เครื่องปรับอากาศ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และการท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นปัจจัยบวกกับภาคเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงส์ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและเครื่องประดับ เป็นต้น
สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทย เดือนเมษายน 2568 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” โดยปัจจัยภายในประเทศ อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังต่อเนื่องตามการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง รวมทั้งความกังวลต่อนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา ด้านปัจจัยต่างประเทศ มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากผลของนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกาที่กดดันการค้าโลก และภาคการผลิตของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นที่ชะลอตัว รวมทั้งมาตรการตอบโต้ของประเทศต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดสงครามการค้าที่รุนแรงมากขึ้นได้ในระยะข้างหน้า
“ในวันที่ 2 เมษายน 2568 สหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนจากไทยในอัตราร้อยละ 25 จากเดิมเก็บเพียงร้อยละ 0-2.5 ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยคาดว่ารถยนต์สำเร็จรูป (CBU) จะได้ผลกระทบทางตรงน้อย เนื่องจากมีการส่งออกไปในปริมาณที่ต่ำและมูลค่าโดยรวมไม่สูง สำหรับรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) คาดว่าจะได้ผลกระทบ แต่ทุกประเทศได้รับผลกระทบในระดับที่ใกล้เคียงกันจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนักในช่วงแรก แต่จะได้รับผลกระทบเมื่อประเทศที่อยู่ภายใต้ความตกลง USMCA หรือสหรัฐ สามารถเริ่มผลิตรถจักรยานยนต์เพื่อทดแทนการนำเข้าได้ ในขณะที่ชิ้นส่วนยานยนต์คาดว่าจะได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง เนื่องจากประเทศไทยส่งออกชิ้นส่วนสำคัญที่อยู่ในขอบข่ายของสินค้าที่จะขึ้นภาษี เช่น ยางล้อ เครื่องยนต์ เกียร์ ระบบส่งกำลัง และส่วนประกอบไฟฟ้า ทั้งนี้ จะต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งว่าจะกระทบพิกัดภาษีใดบ้าง เพื่อประเมินผลต่อไป” นายภาสกร กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 ไทยและญี่ปุ่นได้ร่วมกันจัดการประชุมกลไกความร่วมมือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม หรือ EID (Energy and Industry Dialogue) ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธีนี่ กรุงเทพฯ โดยมี รัฐมนตรีเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารระดับสูงทั้งสองฝ่าย ได้หารือแนวทางสร้างความร่วมมือเพื่อรักษา และสร้างโอกาสการเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ โดยมุ่งมั่นดำเนินการเพิ่มการลงทุนการผลิต HEV รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ และเพิ่มการลงทุนศูนย์ R&D และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีเป้าหมายสร้างห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน ( Win-Win Chain) สร้างฐานการผลิตยานยนต์พลังงานสะอาด (BCG) และสร้างผู้ผลิตในประเทศตลอด Supply Chain โดยได้มีแถลงการณ์ความร่วมมือใน 3 ด้าน ได้แก่ ส่งเสริมแนวทางที่หลากหลาย (Multi Pathways) เช่น รถยนต์พลังงาน Hydrogen และ Bio-fuel ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ ELV ดูแลและพัฒนา Supply Chain รวมถึง HRD โดยเฉพาะ SMEs ให้แข่งขันได้ ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติในเรื่องการรักษาระดับการผลิต โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ตามแนวทาง Multi Parthwarys ส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ HEV และ mild HEV ส่งเสริมกิจกรรมด้านวิจัยและพัฒนา หรือด้านนวัตกรรมขั้นสูงในประเทศ และการพัฒนาบุคลากร ตลอดจนส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรถยนต์เก่าที่ปล่อยมลพิษสูงตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนมีนาคม 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.94 จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายดิบและกากน้ำตาล เป็นหลัก ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่มากกว่าปีก่อน เนื่องจากมีน้ำมากพอในพื้นที่เพาะปลูก และราคาอ้อยจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น
คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.93 จากผลิตภัณฑ์ Hard Disk Drive (HDD) เป็นหลัก ตามอุปสงค์ที่เริ่มกลับมาหลังชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ HDD ที่มีความจุสูง
ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.40 จากผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนรถยนต์/รถจักรยานยนต์ ยางแท่ง และยางผสม เป็นหลัก เนื่องจากผู้ผลิตบางรายเพิ่มเตาเผาเพื่อขยายกำลังการผลิต และมีคำสั่งซื้อจากจีน อเมริกา และยุโรป (ผ่านการรับรอง EUDR) มากขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนมีนาคม 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.80 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลดีเซลหมุนเร็วและน้ำมันเครื่องบิน เป็นหลัก เนื่องการชะลอตัวของความต้องการใช้ขนส่งเดินทาง โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยว
ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.83 จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์ไฮบริดไม่เกิน 1,800 ซีซี และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เป็นหลัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ
กาแฟ ชา และสมุนไพรผงสำหรับชงเป็นเครื่องดื่ม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 82.62 จากผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป เป็นหลัก เนื่องจากผู้ผลิตบางรายหยุดผลิตชั่วคราวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่งผลให้ตลาดหดตัวทั้งในประเทศและส่งออก
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS