ก.พลังงาน เตรียมปรับปรุงโครงสร้างราคา เดินหน้าพลังงานสะอาด ย้ำชัดความยั่งยืน

ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมผู้บริหารระดับสูง เผยผลงานสำคัญ ปี 2567 พร้อมแผนงานด้านพลังงานปี 68 ยังคงมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิต เร่งเดินหน้าผลิตพลังงานสะอาด

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารแถลงผลงานกระทรวงพลังงานปี 2567 และแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2568 ภายใต้หัวข้อ ”New Chapter เปิดศักราชใหม่พลังงานไทย จาก ภาพฉาย สู่ ภาพชัด” โดยได้กล่าวว่า การดำเนินการในช่วงปี 2567 เป็นอีกหนึ่งปีที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านราคาพลังงานซึ่งเป็นผลมาจากภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากสถานการณ์สงครามในต่างประเทศที่ยืดเยื้อส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกผันผวน แต่ก็ถือว่าสถานการณ์ผ่อนคลายมากกว่าเมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงานยังคงออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ผ่านมาตรการการตรึงราคาค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และ NGV รวมทั้งการปรับใช้ราคา Pool Gas การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคส่วนต่างๆ ทำให้ราคาพลังงานภายในประเทศอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อลดภาระหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหลายๆ มาตรการก็เกิดจากการบริหารจัดการและระดมสมองจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัด ทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

ส่วนในปี 2568 นี้ กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบาย โดยมุ่งเน้น “ประชาชนและประเทศ” เป็นสำคัญ ผ่าน 3 เป้าหมายการขับเคลื่อนด้านพลังงาน ประกอบด้วย 1) ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน 2) พลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ และ 3) พลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ที่หลายบริษัทชั้นนำระดับโลกมุ่งหาพลังงานสะอาด

โดยกุญแจสำคัญในการทำให้แผนการขับเคลื่อนด้านพลังงานมีความชัดเจน จากภาพฉายกลายเป็นภาพชัดให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรม กระทรวงพลังงานได้วางกรอบ 5 นโยบายสำคัญ ได้แก่ 1) การจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ในประเทศ โดยจะเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล 2) บริหารจัดการระบบพลังงานให้มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นเพื่อรองรับพลังงานทุกรูปแบบ ทั้งการพัฒนาระบบสำรองเชื้อเพลิงและการตรวจสอบปริมาณสำรอง การพัฒนาระบบ Smart Grid การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบ SPR และการยกระดับระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตแบบกระจายศูนย์ 3) ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อขีดความสามารถในการแข่งขัน เร่งขับเคลื่อนพลังงานสะอาดเพื่อเปิดรับการลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Data Center ผ่านมาตรการเช่น Direct PPA, UGT และการปรับแผน PDP ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น 4) เตรียมเสนอมาตรการด้านพลังงานสีเขียว ส่งเสริมการติดตั้ง Solar Roof ผลักดันมาตรการทางภาษี การลดขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเพื่อลดการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง ก็จะเป็นอีกตัวช่วยในการลดฝุ่น PM2.5 และ 5) สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ ทั้งพลังงานไฮโดรเจน การปรับเปลี่ยนเอทานอลมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันเครื่องบินหรือ SAF การพัฒนาการกักเก็บ CO2

“จากผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในปี 2567 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินทุกมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ที่ตระหนักถึงคุณค่าของการใช้พลังงาน ส่วนในปี 2568 นี้ กระทรวงพลังงานจะเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้ “ภาพฉาย กลายเป็น ภาพชัด” ให้ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงการบริหารจัดการภาคพลังงานของกระทรวงพลังงาน ทั้งการปรับโครงสร้างราคาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน การสร้างความมั่งคงทางด้านพลังงาน การกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ การพัฒนาและปรับแก้กฎหมายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต การทำให้ประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นนโยบายที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานได้เตรียมดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกัน ช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตด้านพลังงานในหลายๆ ปีที่ผ่านมา และจะปฏิบัติตามแผนในปี 2568 เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่งคงด้านพลังงานไปพร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมุ่งสู่เป้าหมายพลังงานสะอาดต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว

ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา สนพ. ได้ปฏิบัติภารกิจงานด้านการวางแผนนโยบายพลังงานภายใต้หลักคิด (1) ด้านความมั่นคงทางพลังงาน (Security) สนพ. ได้จัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า พัฒนา EV Data Platform และส่งเสริมการใช้ EV ในภาคราชการ โดยในเดือนมิถุนายน 2567 สนพ. ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan2024) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำความเห็นที่ได้จากการ Public hearing ไปปรับปรุงเพื่อเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ สนพ. ยังได้เสนอข้อสรุปผลการดำเนินโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลด หรือ Demand response (DR) ปี 2566 และแนวทางพัฒนาแหล่งทรัพยากร DR ในระยะแรกปี 2567 – 2569 เพื่อตอบสนองการใช้ไฟฟ้าของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (2) ด้านการดูแลราคาพลังงาน (Economics) สนพ. ได้นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติและหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ กำหนดราคา Pool Gas ราคาเดียว (Single Pool) และทบทวนค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ (ค่าผ่านท่อก๊าซ) ซึ่งช่วยให้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และ NGV ลดลง

สนพ. ยังได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของไทย และนำเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงาน ได้แก่ การรักษาระดับค่าไฟฟ้าปี 2567 ที่ 4.18 บาท/หน่วย และช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง การคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG เพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 423 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม ต่อเนื่องมามากกว่า 2 ปี และการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร สำหรับ (3) ด้านความยั่งยืน (Sustainability) สนพ. มีนโยบายที่คำนึงถึงพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีข้อเสนอแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่อง Direct PPA ไม่เกิน 2,000 MW สำหรับธุรกิจ Data Center ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งช่วยส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น

ในปี 2568 สนพ. ยังคงเดินหน้าสานต่อภารกิจที่ทำในปี 2567 ทั้งในส่วนของความมั่นคงด้านพลังงาน และ การดูแลราคาพลังงานให้มีความเหมาะสมกับประชาชน โดยมีงานสำคัญคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ การปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานที่เหมาะสมทั้งในส่วนของโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และ โครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2569 – 2573 เป็นต้น

ด้านนางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า การดำเนินงานของ พพ. ในปี 2567 ได้สร้างความยั่งยืนด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาทิ ติดตั้งโซลาร์ช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ทุรกันดาร รวม 595 แห่ง 1,588 ระบบ,ประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับพลังน้ำกว่า 235 ครัวเรือน, กำกับและส่งเสริมให้มีการลดใช้พลังงานในโรงงานอาคารได้กว่า 7,583 ล้านบาท, ถ่ายทอดความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ระดับครัวเรือน ชุมชน กว่า 24,606 คน และพัฒนาหลักสูตรด้านพลังงานเพื่อสร้างบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงาน และในปี 2568 นั้น พพ. ยังคงเดินหน้าพลังงานสะอาดให้มากขึ้นและลดใช้พลังงานอย่างเข้มข้น ยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงาน อาทิ ด้านความมั่นคง : พัฒนากฎหมายเพิ่มการเข้าถึงพลังงานสะอาดให้คล่องตัวขึ้น ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมีไฟฟ้าใช้จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำ ด้านเศรษฐกิจ : เร่งผลักดันมาตรการทางภาษีส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน, ด้านความยั่งยืน : ยกระดับมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงาน พร้อมเร่งรัดจัดการเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนเพื่อลดปัญหา PM2.5 เป็นต้น

ขณะที่นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานในปี 2567 โดยภาพรวมได้ดำเนินการปรับปรุงอัตราการสำรองน้ำมันดิบ จาก 5% เป็น 6% ควบคู่กับการศึกษารูปแบบการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ขับเคลื่อนการออกกฎหมายรับแจ้งข้อมูลนำเข้า-ส่งออกน้ำมัน ประสานความร่วมมือกับ กกพ. กฟน. และ กฟภ. ในการกำหนดกรอบระยะเวลาการอนุมัติอนุญาตและมาตรฐานการติดตั้ง Charging Station ภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง มีการปรับลดชนิดน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว เหลือ 2 ชนิด คือ ดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน (บี7) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20

อีกทั้งได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้การขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นโลจิสติกส์หลักของประเทศ และได้แก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมายสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน ให้เอื้อต่อการเก็บสำรองน้ำมันเพื่อใช้สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ตลอดจนปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการแก่ผู้ประกอบการเป็นดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับปรุงบัตรประจำตัวสำหรับผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมายควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงได้ขับเคลื่อนการใช้พลังงานให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ผ่านการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ อาทิ ไฮโดรเจน เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) รวมถึงน้ำมันเตาชีวภาพกำมะถันต่ำมาก สำหรับแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2568 จะมีการนำร่องการเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณน้ำมันสำรองผ่าน API Gateway เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และจะขยายการให้บริการระบบอนุมัติอนุญาตแบบออนไลน์ไปยังส่วนภูมิภาค อีกทั้งจะออกมาตรฐานความปลอดภัยของเชื้อเพลิงไฮโดรเจน แอมโมเนีย และการกำหนดมาตรฐานคุณภาพของ SAF เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยในการใช้เชื้อเพลิง

ทางด้านนายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่าในส่วนของผลการดำเนินงานปี 2567 ที่สำคัญของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติคือการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก (ครั้งที่ 25) ซึ่งขณะนี้ได้ลงนามในประกาศเชิญชวนการเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯ เรียบร้อยแล้ว และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะได้เร่งรัดการดำเนินการตามกระบวนการต่าง ๆ ตามขั้นตอนต่อไป

รวมทั้งสามารถกำกับ ดูแล สนับสนุนให้การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแปลง G1/61 และ G2/61 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาที่อัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามลำดับ นอกจากนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังมีการดำเนินงานให้ได้มีการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมของแปลง B8/38 ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ 4,000 บาร์เรลต่อวัน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการต่อระยะเวลาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ด้วยแล้ว

นอกจากการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน CCS เพื่อสนับสนุนนโยบายในการให้ประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยการจัดทำโครงการศึกษากฎระเบียบและโครงการนำร่อง CCS ในแหล่งอาทิตย์ ทะเลอ่าวไทย เพื่อรองรับการดำเนินงานด้าน CCS ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับในปี 2568 กรมฯ มีแผนงานสำคัญคือการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอันดามัน (รอบที่ 26) การเร่งรัดการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมในแปลงที่ใกล้สิ้นสุดอายุทั้งในประเทศและพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ประกอบกับส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งผลักดันการดำเนินงานเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี CCS สำหรับโครงการนำร่องพื้นที่อ่าวไทยตอนบนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment