คลังปล่อย 2 มาตรการช่วยเหลือแก่ SME ทุกภาคธุรกิจ เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

คลังเดินหนามาตรการด้านการเงินจำนวน 2 โครงการ คือ โครงการสินเชื่อปลุกพลัง SME และโครงการสินเชื่อ Beyond ติดปีก SME ในทุกภาคธุรกิจ รวมถึงผู้ประกอบการ SME รายย่อย ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การเติบโตของระบบเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มชะลอตัว เป็นผลให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SME) จำนวนมากยังคงอยู่ในสภาวะเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME รายย่อยที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ จึงทำให้ผู้ประกอบการ SME ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ

กระทรวงการคลังเล็งเห็นความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SME ในทุกภาคธุรกิจ รวมถึงผู้ประกอบการ SME รายย่อย ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอในการฟื้นฟู ปรับปรุงกิจการ ขยายธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาขีดความสามารถของการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง จึงได้เสนอมาตรการด้านการเงินจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อปลุกพลัง SME และ 2) โครงการสินเชื่อ Beyond ติดปีก SME ดำเนินการโดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ซึ่งคณะรัฐมนตรีในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ได้มีมติเห็นชอบแล้ว โดยมีสาระสำคัญของโครงการ ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อปลุกพลัง SME วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการให้กับผู้ประกอบการ SME รายย่อยและมีความเปราะบางทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในทุกภาคธุรกิจที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 2 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ในปีที่ 1 – 3 ร้อยละ 3 ต่อปี และในปีที่ 4 – 10 คิดอัตราดอกเบี้ยตามที่ ธพว. กำหนด ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568

2) โครงการสินเชื่อ Beyond ติดปีก SME วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ปรับเปลี่ยนทรัพย์สินหรือเครื่องจักร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SME ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในทุกภาคธุรกิจที่มีรายได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ในปีที่ 1 – 3 ร้อยละ 3 ต่อปี และในปีที่ 4 – 10 คิดอัตราดอกเบี้ยตามที่ ธพว. กำหนด ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับ การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SME มาอย่างต่อเนื่อง โดยทั้ง 2 โครงการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ในทุกภาคธุรกิจ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ SME รายย่อยและมีความเปราะบาง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอในการเสริมสภาพคล่อง ปรับปรุง ขยายธุรกิจ และพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้ในระยะยาวต่อไป


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment