TISCO ESU ฟันธงเศรษฐกิจไทยปี 68 โด 3% ของโลกโต 3.2%

TISCO ESU ประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2568 ขยายตัว 3.2% แรงหนุนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งกว่าคาด จับตานโยบายกีดกันทางการค้าตัวแปรสำคัญกำหนดทิศเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่เศรษฐกิจไทยคาดเติบโต 3.0% แรงหนุนจากรายจ่ายและการลงทุนภาครัฐ - เอกชนที่กลับมา การท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายขึ้น “หุ้น” ยังเป็นสินทรัพย์น่าสนใจลงทุนแม้ผันผวนมากกว่าปี 2567

นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) (เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงที่จะโน้มไปทางด้านต่ำ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ระดับ 3.2% โดยมีปัจจัยบวกมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด (Exceptionalism) อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ สถานการณ์สงครามที่ยังไม่คลี่คลายทั้งในตะวันออกกลาง และรัสเซีย - ยูเครน ซึ่งจะสร้างความไม่แน่นอนแก่ราคาพลังงานและเงินเฟ้อ รวมถึงทิศทางของนโยบายการเงินโลก นอกจากนี้ ในหลายประเทศที่รัฐบาลมีภาระหนี้สินในระดับสูง อาจหันมาลดการขาดดุลงบประมาณลง ซึ่งจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินได้

ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว (Advanced Economy) ส่วนใหญ่จะชะลอตัวลงจากประมาณการเดิม เช่นเดียวกับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market) ที่มีแนวโน้มชะลอลงจากหลายปัจจัย อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อผลผลิต และความขัดแย้งภายในประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ดี อุปสงค์ต่อสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ที่ฟื้นตัวตามกระแสการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) จะหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชีย (Emerging and Developing Asia) ขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการผลิตและการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง

ด้านเศรษฐกิจไทย ในปี 2568 TISCO ESU คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.0% สูงขึ้นจากปี 2567 ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% โดยเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีความสมดุลมากขึ้น อาทิ การเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการแจกเงิน 10,000 บาท รอบใหม่ที่น่าจะช่วยพยุงการบริโภคภายในประเทศ และสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องสู่ระดับใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโรคระบาด (Pre-covid Level) แม้จะชะลอตัวลงจากปีนี้ก็ตาม ขณะที่นโยบายการเงิน มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเล็กน้อยราว 0.25% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 มาอยู่ที่ 2.00% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะการเงินในประเทศที่มีความตึงตัวขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงรอบด้านโดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกประเทศ อีกทั้งคาดว่า ธปท. จะมุ่งเน้นการใช้นโยบายการเงินแบบตรงจุด (Targeted Policy) พร้อมกับการรักษาพื้นที่ในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต (Policy Space) ด้วยท่าทีที่เป็นกลางต่อไป

ในด้านปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ให้น้ำหนักที่สงครามการค้ารอบใหม่ และปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศที่ทรงตัวในระดับสูงมายาวนาน รวมถึงคุณภาพของสินเชื่อที่ด้อยลงต่อเนื่อง ดังนั้น ต้องจับตาการแปลงสภาพของสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) สู่การเป็นหนี้เสีย (NPL) โดยเฉพาะสินเชื่อหมวดยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ระดับกลาง - ล่าง เพราะอาจส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป ขณะที่ประเด็นเรื่องการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยความท้าทายที่ต้องจับตา เพราะอาจกระทบกับเศรษฐกิจไทยราว 0.3 – 1.1 Percentage Point ของ ประมาณการ GDP ตลอดช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯ จะตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นที่ระดับ 60% ตามที่หาเสียงไว้ได้หรือไม่ รวมถึงอัตราภาษีดังกล่าวจะถูกขยายวงกว้างไปยังประเทศอื่น ๆ ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา

ด้านนายธนธัช ศรีสวัสดิ์ นักกลยุทธ์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวถึงมุมมองต่อราคาน้ำมันและตลาดตราสารหนี้ (Fixed Income) ว่า TISCO ESU มองว่าราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate Crude Oil (WTI) จะเคลื่อนไหวในระดับราว 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ / บาร์เรลในปี 2568 ใกล้เคียงกับปีนี้ที่ระดับประมาณ 76 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล จากแนวโน้มการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ และบราซิลที่มีโอกาสเติบโตได้ช้ากว่าที่ตลาดคาด หลังราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับค่อนข้างต่ำจาก Sentiment ที่เป็นลบมาต่อเนื่อง ขณะเดียวกันปริมาณการผลิตน้ำมันจาก OPEC+ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 300,000-400,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งจะช่วยรักษาตลาดน้ำมันโลกในปี 2568 ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงสมดุลมากกว่าจะเกินดุล (Supply Surplus) อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้แนวโน้มราคาน้ำมันไม่น่าจะลดลงรุนแรงอย่างที่ตลาดเป็นกังวล นอกจากนี้ เราคาดว่ารูปแบบราคาสัญญาน้ำมันดิบ (Oil Futures Curve) จะยังคงลักษณะค่อนข้างเป็น Backwardation (สัญญาระยะสั้นมีมูลค่าสูงกว่าสัญญาระยะยาว) ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักลงทุนในสัญญา Futures ราคาน้ำมันได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบเพียงอย่างเดียว

ตลาดตราสารหนี้ (Fixed Income) เรามีมุมมองค่อนข้างเป็นกลาง (Neutral) ต่อพันธบัตรระยะยาวในปี 2568 โดยคาดว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี (US 10-Year Treasury Bond Yield) จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.5-5.0% สะท้อนแนวโน้มเงินเฟ้อที่เริ่มกลับมาเร่งตัวขึ้นและมีโอกาสทรงตัวใกล้ระดับ 3% จากเงินเฟ้อในภาคบริการและที่อยู่อาศัย ที่ยังคงสูงและหนืดในระดับประมาณ 5% ขณะที่คณะกรรมการ Fed ได้แสดงจุดยืนที่ไม่ต้องการใช้นโยบายการเงินเชิงตึงตัวอย่างหนัก เพื่อนำเงินเฟ้อกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% โดยอาจต้องแลกกับการชะลอตัวลงอย่างมีนัยของเศรษฐกิจ แต่พยายามรักษาสมดุลระหว่างเป้าหมายเงินเฟ้อและการช่วยพยุงสภาพตลาดแรงงานไม่ให้อ่อนตัวลงมากเกินไป ทำให้สภาวะการเงินยังไม่เข้มงวดพอที่จะกดเงินเฟ้อลงต่ำกว่า 3% เราจึงมองว่าสภาวะ “No Landing” (ภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าศักยภาพ และเงินเฟ้อยังสูงกว่าระดับเป้าหมาย) จะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2568 ส่งผลให้ Fed มีข้อจำกัดในการลดดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำกว่า 4% และมองว่า Valuation ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวคือเมื่อ Bond yield อยู่ที่ระดับประมาณ 4.5% หรือสูงกว่า

ขณะที่นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Komsorn Prakobphol , Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit) กล่าวว่า ในปี 2568 จะเป็นปีที่ตลาดหุ้นโลกผันผวนมากขึ้นจากปัจจัยหลายด้านทั้งนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่คาดเดาได้ยาก ส่งผลต่อเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นวงกว้าง เช่น มาตรการกีดกันการค้า การตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กันระหว่างประเทศ ซึ่งกดดันราคาสินค้าและต้นทุนการผลิตให้เพิ่มขึ้น ทำให้ในปีหน้า มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง และจะเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่กระทบต่อภาพการลงทุน ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นยังซื้อขายในกรอบ Valuation ที่แพง ประกอบกับบอนด์ยิลด์ที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง กดดันให้อัพไซด์ของตลาดมีจำกัด และเพิ่มความเสี่ยงที่ตลาดจะปรับฐานแรงมีมากขึ้น ส่งผลให้การลงทุนในปีหน้าเต็มไปด้วยความท้าทายอย่างยิ่ง

มองไปในระยะข้างหน้า เงินเฟ้อในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเร่งตัว โดยเฉพาะในหมวดราคาสินค้า ซึ่งเกิดจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่

ผลกระทบจากสงครามการค้าตามนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงมาตรการกีดกันการค้าและการตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กันของหลายประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

การย้ายฐานการผลิตออกจากแหล่งที่มีต้นทุนต่ำ เช่น จีน เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษี ที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

การลดดอกเบี้ยที่เร็วเกินไปของ Fed ทำให้ภาวะการเงินและสภาพคล่องกลับมาผ่อนคลาย และอาจทำให้การบริโภคและการลงทุนกลับมาฟื้นตัวขึ้นและเป็นสาเหตุให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้

TISCO ESU ยัง “คงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นมากกว่าตลาด” (Overweight) ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่จะได้อานิสงค์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เช่น การลดภาษี และการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งนี้ประเมินว่าหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่ม Tech อาจไม่ได้เป็นผู้นำตลาดต่อไปในปีหน้า เนื่องจากระดับ Valuation ที่แพง และแนวโน้มบอนด์ยิลด์ที่สูงจะเป็นปัจจัยกดดันต่อ Valuation ของหุ้นในกลุ่มเติบโตสูง นอกจากนั้นหุ้นในกลุ่ม Tech อาจเป็นเป้าหมายของการขึ้นภาษีตอบโต้สงครามการค้าของสหรัฐฯ อีกด้วย

ทั้งนี้ TISCO ESU แนะนำให้ปรับพอร์ตการลงทุนมาเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากทั้งภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายในปีหน้า โดยเน้นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากนโยบายลดภาษีนิติบุคคล และมียอดขายส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ ซึ่งทำให้ความเสี่ยงจากการถูกตอบโต้จากสงครามการค้ามีจำกัด ซึ่งได้แก่กลุ่ม สินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) และกลุ่มสถาบันการเงินในสหรัฐฯ นอกจากนั้น กำไรของภาคธนาคารยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างดอกเบี้ย (Interest Margin) ประกอบกับนโยบายสนับสนุนการลดกฎระเบียบในสถาบันการเงิน (Bank De-regulation) ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการปล่อยกู้ (Bank Lending Capacity) ของภาคธนาคารในระยะข้างหน้า

นอกเหนือจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เราให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่จะได้รับผลบวกจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงจากสงครามการค้ามีจำกัด ส่วนหุ้นในตลาดเกิดใหม่อาจต้องเผชิญแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า บอนด์ยิลด์ที่ทรงตัวในระดับสูง และแรงกดดันเงินเฟ้อซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการลดดอกเบี้ยในหลายประเทศ ขณะที่ให้ “ลดน้ำหนักการลงทุน” (Underweight) ในตลาดหุ้นไทย เพราะการเติบโตของกำไรยังไม่ชัดเจนนัก


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment