{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
นายอภิชิต ประสพรัตน์ พร้อมด้วย นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ ดร.วิรัช ฉัตรดรงค์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และรองประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ระดับ 91.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 89.1 ในเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี และก่อนวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเดือนธันวาคม ประกอบกับภาคการส่งออก ขยายตัวเร่งขึ้น 14.6%(YOY) เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่ขยายตัวสูง ขณะที่ประเทศคู่ค้าเร่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องจักรและวัตถุดิบล่วงหน้าเพื่อรองรับการผลิต และเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในระยะต่อไป อีกทั้ง การอ่อนค่าของเงินบาท ยังส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้น รวมไปถึง ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 24 พฤศจิกายน 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวไทยแล้ว จำนวน 31,313,787 คน ขยายตัว 28% (YoY) สร้างรายได้ 1,466,408 ล้านบาท ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้ภาครัฐและเอกชนจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกภูมิภาค ส่งผลดีต่อการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ อีกปัจจัยที่ส่งผล คือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้น ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2567 (มกราคม - กันยายน) มีโครงการต่างชาติยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1,449 โครงการ เพิ่มขึ้น 64% (YOY) มีมูลค่าการลงทุน 546,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% (YOY) โดยเฉพาะอุตสาหกรรม ดิจิทัล มีมูลค่าการลงทุน 90,262 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 13,176% (YOY) และงบประมาณภาครัฐ ปี 2568 เริ่มมีการเบิกจ่ายแล้ว ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน ยังมีปัจจัยลบจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ กระทบต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจในพื้นที่ คาดการณ์มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท ปัญหาหนี้เสีย (NPL) ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 14.1% (YoY) กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค ยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ 37,691 คัน หดตัว 36.08% (YOY) ต่ำสุดในรอบ 54 เดือน เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศ รวมถึง ยอดอนุมัติสินเชื่อ SMEs ในไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 6.47 แสนล้านบาท หดตัว 4.6%(YoY) แสดงให้เห็นว่า SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้น้อยลงจากช่วงก่อนหน้า และยังมีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันในไทยมากขึ้น กดดันยอดขายสินค้าผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค พลาสติก เคมีภัณฑ์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,369 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ 55.6% เศรษฐกิจโลก 50.2% ราคาน้ำมัน 38.8% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 38.1% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 31.0% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 30.9%
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.7 ปรับตัวลดลงจาก 98.4 ในเดือนตุลาคม 2567 โดยปัจจัยที่ผู้ประกอบยังคงห่วงกังวล คือ ความเสี่ยงเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าสู่ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะ SMEs นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ต่อวัน ความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ในพื้นที่ต่างๆ อาจส่งผลให้ราคาพลังงานในตลาดโลกผันผวนและกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลก
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการแจกเงิน 10,000 บาทเฟส 2 มาตรการเงินช่วยเหลือเกษตกร มาตรการแก้หนี้ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วง High Season คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปี 2568 มาตรการตรึงราคาพลังงานของภาครัฐ ทั้งราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม –31 มีนาคม 2568 รวมถึงปรับลดค่าไฟฟ้า 4.15 บาท ต่อหน่วย งวดเดือน มกราคม – เมษายน 2568
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
1. เสนอให้ภาครัฐจัดตั้ง War room เพื่อเตรียมแนวทางรับมือกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทย รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการขยายตลาดในสหรัฐฯ
2. เสนอให้ภาครัฐใช้กลไกการปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน (PAY BY SKILL) เพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่กับการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน
3. เสนอให้ภาครัฐส่งเสริมหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของลูกหนี้ดีขึ้น
4. เสนอให้ภาครัฐปรับปรุงกลยุทธ์ในการเจาะตลาดต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้กลไก
ทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศเพื่อขยายโอกาสทางการค้า รวมถึงปรับเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการส่งออก เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ตลอดจนกำหนดตัวชี้วัดของโครงการโดยเน้นประสิทธิภาพในการเจาะตลาด
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS