วันเคารพผู้สูงอายุญี่ปุ่น (Respect for the Aged Day)

ทุกวันจันทร์ที่สามในเดือนกันยายนของทุกปี ญี่ปุ่นกำหนดให้เป็นวันเคารพผู้สูงอายุซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ปีนี้ตรงกับวันที่ 17 กันยายน โดยในวันนี้ชาวญี่ปุ่นจะเดินทางไปเยี่ยมพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุที่เคารพนับถือ

ในปี 2560 ประชากรโลกที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 962 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจากปี 2525 ที่มีจำนวน 382 ล้านคนทั่วโลก และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นอีกกว่าสองเท่าในปี 2593 คิดเป็นจำนวนเกือบ 2.1 พันล้านคนทั่วโลก

ส่วนประชากรโลกที่มีอายุมากกว่า 80 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าจำนวนของผู้สูงอายุโดยรวม โดยในปี 2523 ประชากรโลกที่มีอายุมากกว่า 80 ปีมีจำนวน 36 ล้านคน และตั้งแต่นั้นมาจำนวนผู้สูงอายุกลุ่มนี้ก็เพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่า อยู่ที่ 137 ล้านคนในปี 2560 และคาดว่าในปี 2593 จำนวนผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 425 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งมากขึ้นกว่าสามเท่า

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก จากรายงาน World Population Aging 2017 ของสหประชาชาติ ระบุว่า ในปี 2560 ญี่ปุ่นมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก คือ 33.4% ของจำนวนประชากร และในปี 2593 ญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เพิ่มสูงขึ้นเป็น 42.4% ของจำนวนประชากร

รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลในปี 2558 ระบุ จำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 80 ปีนั้น พุ่งสูงไปมากกว่า 10 ล้านคนแล้ว และในปี 2560 จำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 90 ปีมีมากถึง 2.06 ล้านคน

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 100 ปี ก็มีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันถึง 47 ปี นับตั้งแต่ปี 2514 ในช่วงเวลานั้นญี่ปุ่นยังมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 100 ปีเพียง 339 คนเท่านั้น แต่ล่าสุดในปี 2560 มีจำนวนเกือบ 70,000 คน

ด้วยอัตราการเติบโตของผู้สูงอายุในญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญและใส่ใจกับการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งตามจริงนั้นญี่ปุ่นเขามีแนวคิดการดูแลผู้สูงอายุมานานแล้ว เรียกว่า อิบะโช (Ibasho) ในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า บ้าน และมีอีกหนึ่งความหมาย คือการทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง มีสิทธิที่จะเลือกวิถีชีวิตของตนเอง และยังสามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้

ในปี 2537 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงออกกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารและพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ผู้สูงอายุเคลื่อนไหวได้สะดวก รวมถึงเป็นอาคารที่ออกแบบให้เหมาะสำหรับทุกคน และเริ่มบังคับใช้มาถึงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน และสถานที่สาธารณะทุกแห่ง

นอกจากนี้ ร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่กว่า 55,000 แห่งทั่วประเทศได้มีการปรับระดับและจัดชั้นวางสินค้าให้ผู้สูงอายุสามารถหยิบได้สะดวก รวมถึงมีมุมให้พักผ่อน นั่งพูดคุยร่วมกัน รวมถึงฝึกอบรมพนักงานในร้านในการดูแลผู้สูงวัย และให้คำปรึกษาด้านการพยาบาล รวมทั้งแนะนำสถานดูแลผู้สูงวัยอีกด้วย

ด้านอาหาร ญี่ปุ่นได้คิดค้นพัฒนาอาหารสำหรับผู้สูงอายุ แบ่งเป็น 5 ระดับตามความสามารถในการเคี้ยวของผู้สูงวัย มีหน้าตาและรสชาติที่อร่อยและหลากหลายอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ผู้สูงอายุจะรับประทานได้สะดวก

นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังนิยมทาน ปลา ผัก คาร์โบไฮเดรตจากข้าวและพืชผัก เนื้อสัตว์อื่นๆ ซึ่งเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ และของหมักดอง เช่น ผักดอง มิโสะ นัตโตะ โชหยุหรือซอสถั่วเหลือง ซึ่งจะช่วยในเรื่องการย่อยอาหารและเสริมความแข็งแรงของระบบภูมิต้านทานของร่างกาย รวมถึงอาหารญี่ปุ่นหลายชนิดเป็นอาหารที่ไม่ผ่านขั้นตอนหรือกระบวนการปรุงที่ซับซ้อนมาก เช่น ต้ม นึ่ง ย่าง หมัก เป็นต้น ทำให้อาหารยังคงคุณค่าของสารอาหารอยู่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนญี่ปุ่นจะไม่นิยมออกกำลังกาย แต่การใช้ชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นที่มักจะเดิน หรือการใช้บริการขนส่งสาธารณะที่ต้องเดินเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ร่างกายเผาผลาญได้ดี คนญี่ปุ่นถึงมีสุขภาพดีและมีอายุยืนยาวกันอย่างนี้นั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูล

http://www.un.org/en/development/desa/population/publications/pdf/ageing/WPA2017_Highlights.pdf

http://www.un.org/en/development/desa/population/publications/pdf/ageing/WPA2017_Report.pdf

https://www.japantimes.co.jp/news/2015/09/21/national/social-issues/japan-increasingly-gray-people-80-older-top-10-million/#.W5yiCST7TIU

https://www.japantimes.co.jp/news/2017/09/18/national/number-people-aged-90-older-tops-2-million-first-time-japan/#.W5yiMST7TIU

https://www.posttoday.com/world/515417


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment