ค่าเงินบาทเปิดเช้า 22 ตุลาคม 2567 ที่ระดับ 33.52 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 22 ตุลาคม 2567 ที่ระดับ 33.52 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 33.40-33.53 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าลงพอสมควรในวันก่อนหน้า จนทะลุแนวต้านที่เราประเมินไว้แถว 33.45 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งได้แรงหนุนจากทั้ง มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า มีโอกาสราว 38% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม หลังลดการลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน) พร้อมกันนั้น เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการเพิ่มสถานะ Long USD เพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงหลังผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า โดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสชนะการเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดได้อ่อนค่าต่อเนื่อง ทะลุโซน 150 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น และนอกเหนือจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวได้ปรับตัวลดลงในช่วงคืนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้างแถวโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ทั้งฝั่งผู้ส่งออกและฝั่งผู้เล่นที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง)

มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ได้กดดันบรรยายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของ Nvidia +4.1% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความคาดหวังต่อรายงานผลประกอบการของ Nvidia ที่ผู้เล่นในตลาดประเมินว่าจะยังคงเห็นการเติบโตของรายได้และกำไรที่แข็งแกร่ง ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.18%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 กลับมาปรับตัวลง -0.66% กดดันโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวฝั่งยุโรป ซึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟด และเริ่มปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่โดนัลด์ ทรัมป์ อาจชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ส่งผลให้บรรดาหุ้นที่อ่อนไหวกับแนวโน้มดอกเบี้ย ต่างปรับตัวลดลง อาทิ หุ้นเทคฯ (ASML -1.0%)และหุ้นสไตล์ Growth (LVMH -2.0%)

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเข้าใกล้โซน 4.20% หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด และเริ่มปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades มากขึ้น ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ สูงขึ้น อนึ่ง เราคงมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในบอนด์ระยะยาว ตามแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางส่วนใหญ่และบอนด์ยีลด์ที่อยู่ในระดับสูงพอสมควร เมื่อเทียบกับอดีต ทว่า เราขอเน้นย้ำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่คุ้มค่าและเหมาะสม

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดและการปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาส โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงทะลุโซน 150 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 104 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.5-104 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ได้กลับมากดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงสู่โซน 2,730-2,740 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือของผู้เล่นในตลาด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ

สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มากนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด BOE และ ECB ซึ่งการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ย เฟด BOE และ ECB จะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงบรรดาสกุลเงินหลัก ทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) ได้ในช่วงระยะสั้น

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และแนวโน้มการเลือกตั้งสหรัฐฯ

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท การอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินบาท จนทดสอบโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เรายังคงมั่นใจต่อมุมมองเดิม ที่ประเมินแนวโน้มเงินบาททยอยอ่อนค่า (เรา call USDTHB bottom แถว 32 บาทต่อดอลลาร์ ณ วันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา) อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทหลังจากนี้ อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงเหนือโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ อีกทั้ง หากราคาทองคำมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ ซึ่งในช่วงนี้ ราคาทองคำก็ยังพอได้แรงหนุนจากความไม่แน่นอนของทั้งการเลือกตั้งสหรัฐฯ และสถานการณ์ในตะวันออกกลางอยู่ ทว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงนี้ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงบรรยากาศในตลาดการเงินโลกที่ระมัดระวังตัวมากขึ้น ก็อาจทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้ และแรงขายสินทรัพย์ไทยดังกล่าวก็อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทเพิ่มเติมในช่วงนี้

เราประเมินว่า หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 33.65 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับอาจขยับสูงขึ้นมาแถวโซน 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะมีโซนแนวต้านสำคัญแถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ หากเงินบาทสามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ ซึ่งเรามองว่า อาจยังไม่ได้เกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.65 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment