ค่าเงินบาทเปิดเช้า 25 กันยายน 2567 ที่ระดับ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 25 กันยายน 2567 ที่ระดับ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.85 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 32.58-32.86 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board เดือนกันยายน ออกมาแย่กว่าคาดและสะท้อนความกังวลภาวะตลาดแรงงานของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจต้องเร่งลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะ เงินยูโร (EUR) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ได้แรงหนุนจากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ นอกจากนี้ เงินบาทยังคงได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำยังคงสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All-Time High) ท่ามกลางความหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงร้อนแรงอยู่

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด และความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทว่า การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (The Magnificent 7) อยู่ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.25%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.65% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม รวมถึงกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Hermes +3.9%, Rio Tinto +4.5% ตามความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทุนขนานใหญ่

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นเกือบทะลุ 3.80% ตามบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ที่ได้แรงหนุนจากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.74% หลังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ล่าสุด ของสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ทั้งนี้ ความผันผวนของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็เป็นสิ่งที่เราประเมินไว้แล้วว่า การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในช่วงนี้จะเผชิญความผันผวน Two-Way Volatility ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ทยอยออกมา ทว่า เราคงประเมินว่า ในระยะสั้น ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจยังไม่เห็นสัญญาณการชะลอตัวลงหนักที่ชัดเจน จนทำให้เฟดจำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดหวัง ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่ตลาดอาจต้องปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้บ้าง โดยเรายังคงมองว่า กลยุทธ์ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว จะสร้างความได้เปรียบให้กับผู้เล่นในตลาด

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ได้แรงหนุนจากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 100.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.2-100.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าตลาดการเงินจะเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง แต่การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงตลาดเผชิญสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรงอยู่ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง ก่อนที่จะถูกขายทำกำไรออกมาบ้าง แต่โดยรวมยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก แต่ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานยอดสต็อกน้ำมันของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นได้

ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) เดือนสิงหาคม ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า ทั้งยอดการส่งออกและยอดการนำเข้าก็มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไม่น้อยกว่า +6% แต่โดยรวมดุลการค้าอาจขาดดุลเล็กน้อยได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้นมีกำลังมากกว่าที่เราประเมินไว้ ซึ่งต้องยอมรับว่า เกิดจาก “Surprise” มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ของทางการจีนในวันก่อนหน้า (เราเองก็ไม่ได้คาดคิดว่าทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุนขนานใหญ่ในเร็ววันนี้) ที่พลิกมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน จนทำให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นร้อนแรง ขณะเดียวกันเงินหยวนจีน (CNY) ก็แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และหนุนการแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวอาจยังคงช่วยหนุนบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งเอเชียในช่วงนี้ ทำให้เงินบาทอาจพอได้รับอานิสงส์จากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอยู่บ้าง กอปรกับในมุมของเงินดอลลาร์เองก็อาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน จนกว่าตลาดจะปรับมุมมองใหม่ต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งต้องอาศัยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด หรือ อย่างน้อยก็ดีกว่าบรรดาเศรษฐกิจอื่นๆ เหมือนต้นสัปดาห์ที่ดัชนี PMI ของสหรัฐฯ นั้นดูดีกว่าทั้งฝั่งยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น และที่สำคัญ เราคงมุมมองเดิมว่า ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงสามารถปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ได้นั้น เงินบาทก็อาจทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นทะลุโซนดังกล่าวได้จริง จะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปยังโซน 32.00-32.25 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่อาจมีมุมมองคล้ายกับเรา ที่ประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทควรจำกัดลงได้แล้วนั้น อาจต้องปรับสถานะถือครอง หรือ Cut Loss สำหรับสถานะ Short THB ในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าโมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทยังคงมีอยู่ แต่เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจชะลอลงได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งในระยะสั้น ก่อนที่ทางการจีนจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่นั้น ผู้เล่นในตลาดได้มีสถานะ Net Short น้ำมันดิบมากพอสมควร ทำให้มีโอกาสเกิดภาพการเร่งปิดสถานะดังกล่าวและหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นได้ในระยะสั้น อีกทั้ง การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงนี้ ก็จะยังเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยซื้อบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจพอช่วยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้บ้าง

และที่สำคัญ เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า ในเชิง Valuation การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าโซน 33 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะโซนแข็งค่าเกิน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่า เป็นระดับที่ Overvalued (Z-Score ของดัชนีค่าเงินบาท REER เกินระดับ +0.5) ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการอย่างฝั่งผู้นำเข้าควรเตรียมพร้อมปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.50-32.80 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment