ค่าเงินบาทเปิดเช้า 12 กันยายน 2567 ที่ระดับ 33.81 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 12 กันยายน 2567 ที่ระดับ 33.81 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.69 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในกรอบ 33.64-33.86 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงราว -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ของเฟดในการประชุมที่เหลือของปีนี้ลงบ้าง จากรายงานอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI เดือนสิงหาคม ที่ไม่ได้ชะลอลงตามคาด โดยโมเมนตัมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI (%m/m) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ +0.3% สูงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ +0.2% อย่างไรก็ดี โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นบ้าง ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจใช้จังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงใกล้โซนแนวต้านแรกแถว 33.80-33.90 บาทต่อดอลลาร์ ในการทยอยขายเงินดอลลาร์หรือขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง)

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวขึ้นตามการปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดก็ตาม โดย Nvidia +8.2% จากความหวังว่าทางการสหรัฐฯ อาจเปิดทางให้บริษัทสามารถส่งออกชิปประสิทธิภาพสูงให้กับทางซาอุดิอาระเบีย ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ต่างปรับตัวขึ้น ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +2.17% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.07%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม AI/Semiconductor อาทิ ASML +3.8% ตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มดังกล่าวในฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงความหวังต่อการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสฯ นี้ แต่ตลาดหุ้นยุโรปก็ยังเผชิญแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมรวมถึงหุ้นกลุ่มธนาคารกดดันภาพรวมของตลาด

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมปรับตัวขึ้นราว +5bps สู่ระดับ 3.65% หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ของสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม ที่ไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจนตามคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง ขณะเดียวกัน บรรยากาศในตลาดการเงินก็เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ระยะยาวได้ (หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวลดลงมาพอสมควรในช่วงระยะสั้น) ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (มองว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยมากเท่าที่ตลาดประเมิน) ซึ่งต้องรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึง คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ของเฟด (Dot Plot) โดยเราคงเน้นกลยุทธ์ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะถือครองบอนด์ระยะยาวอยู่แล้วนั้น ก็สามารถ Let Profits Run หรืออาจพิจารณาทยอยขายทำกำไรได้บ้าง ตามความเหมาะสม (Sell on Rally)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 101.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.3-101.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง ได้หนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงเกือบ -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง เข้าใกล้ระดับ 2,540 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะทยอยรับรู้ในช่วงราว 19.15 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยเราประเมินว่า ECB จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) -25bps สู่ระดับ 3.50% และมีโอกาสที่ทาง ECB อาจส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ซึ่งต้องรอจับตาถ้อยแถลงของประธาน ECB ในช่วง press conference ราว 19.45 น. อย่างใกล้ชิด

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดใช้ประเมินภาพแนวโน้มเงินเฟ้อเป็นหลัก ผ่านรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนสิงหาคม พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อติดตามสภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่า เงินบาทจะเริ่มทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (หนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลง) แต่เราอาจยังไม่มั่นใจได้ว่า เงินบาทจะพลิกกลับไปอ่อนค่าลงได้ชัดเจน จนกว่าจะเห็นการอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งโซนดังกล่าวได้กลายมาเป็นโซนแนวต้านสำคัญของเงินบาทในระยะสั้น และหากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้จริง ก็มีโอกาสอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์

อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า บรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอาจช่วยหนุนบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้บ้าง โดยเงินบาทอาจพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในจังหวะที่ ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) มีจังหวะย่อตัวลงเข้าสู่โซนแนวรับเชิงเทคนิคัล นอกจากนี้ โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจชะลอลงได้ ตามการทยอยขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้ส่งออก ทั้งนี้ เรามองว่า ตลาดค่าเงินก็อาจยังไม่มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุม ECB และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ ทำให้เงินบาทก็อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ระหว่าง 33.70-33.90 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อนได้

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงหลังตลาดรับรู้ผลการประชุม ECB และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะหาก ECB ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งอาจสะท้อนแนวโน้มการลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ก็อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้ในระยะสั้น ขณะเดียวกัน หากรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ไม่ได้ชะลอตัวลงตามคาด รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ยังคงสะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ชะลอลงหนัก ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งจะช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ กดดันราคาทองคำและเงินบาทได้

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment