{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 12 กันยายน 2567 ที่ระดับ 33.81 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.69 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในกรอบ 33.64-33.86 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงราว -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ของเฟดในการประชุมที่เหลือของปีนี้ลงบ้าง จากรายงานอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI เดือนสิงหาคม ที่ไม่ได้ชะลอลงตามคาด โดยโมเมนตัมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI (%m/m) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ +0.3% สูงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ +0.2% อย่างไรก็ดี โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นบ้าง ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจใช้จังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงใกล้โซนแนวต้านแรกแถว 33.80-33.90 บาทต่อดอลลาร์ ในการทยอยขายเงินดอลลาร์หรือขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง)
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวขึ้นตามการปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดก็ตาม โดย Nvidia +8.2% จากความหวังว่าทางการสหรัฐฯ อาจเปิดทางให้บริษัทสามารถส่งออกชิปประสิทธิภาพสูงให้กับทางซาอุดิอาระเบีย ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ต่างปรับตัวขึ้น ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +2.17% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.07%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม AI/Semiconductor อาทิ ASML +3.8% ตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มดังกล่าวในฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงความหวังต่อการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสฯ นี้ แต่ตลาดหุ้นยุโรปก็ยังเผชิญแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมรวมถึงหุ้นกลุ่มธนาคารกดดันภาพรวมของตลาด
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมปรับตัวขึ้นราว +5bps สู่ระดับ 3.65% หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ของสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม ที่ไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจนตามคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง ขณะเดียวกัน บรรยากาศในตลาดการเงินก็เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ระยะยาวได้ (หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวลดลงมาพอสมควรในช่วงระยะสั้น) ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (มองว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยมากเท่าที่ตลาดประเมิน) ซึ่งต้องรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึง คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ของเฟด (Dot Plot) โดยเราคงเน้นกลยุทธ์ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะถือครองบอนด์ระยะยาวอยู่แล้วนั้น ก็สามารถ Let Profits Run หรืออาจพิจารณาทยอยขายทำกำไรได้บ้าง ตามความเหมาะสม (Sell on Rally)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 101.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.3-101.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง ได้หนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงเกือบ -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง เข้าใกล้ระดับ 2,540 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะทยอยรับรู้ในช่วงราว 19.15 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยเราประเมินว่า ECB จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) -25bps สู่ระดับ 3.50% และมีโอกาสที่ทาง ECB อาจส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ซึ่งต้องรอจับตาถ้อยแถลงของประธาน ECB ในช่วง press conference ราว 19.45 น. อย่างใกล้ชิด
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดใช้ประเมินภาพแนวโน้มเงินเฟ้อเป็นหลัก ผ่านรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนสิงหาคม พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อติดตามสภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่า เงินบาทจะเริ่มทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (หนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลง) แต่เราอาจยังไม่มั่นใจได้ว่า เงินบาทจะพลิกกลับไปอ่อนค่าลงได้ชัดเจน จนกว่าจะเห็นการอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งโซนดังกล่าวได้กลายมาเป็นโซนแนวต้านสำคัญของเงินบาทในระยะสั้น และหากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้จริง ก็มีโอกาสอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์
อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า บรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอาจช่วยหนุนบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้บ้าง โดยเงินบาทอาจพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในจังหวะที่ ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) มีจังหวะย่อตัวลงเข้าสู่โซนแนวรับเชิงเทคนิคัล นอกจากนี้ โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจชะลอลงได้ ตามการทยอยขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้ส่งออก ทั้งนี้ เรามองว่า ตลาดค่าเงินก็อาจยังไม่มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุม ECB และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ ทำให้เงินบาทก็อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ระหว่าง 33.70-33.90 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อนได้
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงหลังตลาดรับรู้ผลการประชุม ECB และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะหาก ECB ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งอาจสะท้อนแนวโน้มการลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ก็อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้ในระยะสั้น ขณะเดียวกัน หากรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ไม่ได้ชะลอตัวลงตามคาด รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ยังคงสะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ชะลอลงหนัก ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งจะช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ กดดันราคาทองคำและเงินบาทได้
เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS