จากหอยเบี้ย สู่เงินตรา

วันที่ 25 สิงหาคม 2405 สยามประกาศใช้กะแปะ อัฐ โสฬส ที่ทำขึ้นใหม่ และยกเลิกการใช้หอยเบี้ย

ในสมัยก่อน “หอยเบี้ย” นอกจากจะใช้แทนเงินตราหรือแลกเปลี่ยนสินค้าแล้ว ยังถูกใช้เป็นเครื่องประดับที่มีค่า และในวัฒนธรรมไทยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องรางของขลัง พิธีกรรมต่างๆ ซึ่งประเทศที่นิยมใช้หอยเบี้ยแลกเปลี่ยนสินค้าแทนเงิน พบได้ตามเส้นทางค้าขายทางเรือ เช่น จีน อินเดีย ยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง

ในดินแดนสยาม ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบการใช้หอยเบี้ยในแหล่งชุมชนโบราณ แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่านำมาใช้แทนเงินตราหรือไม่ แต่จากหลักฐานในสมัยประวัติศาสตร์ของดินแดนสยาม พบว่า มีการนำหอยเบี้ยมาใช้แลกเปลี่ยนสินค้าหรือใช้เป็นเงินตรามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงต้นรัตนโกสินทร์

หอยเบี้ยที่ถูกนำมาใช้ส่วนใหญ่มาจากหมู่เกาะมัลดีฟส์ในมหาสมุทรอินเดีย ส่งผลให้มีอัตราแลกเปลี่ยนไม่คงที่ เพราะขึ้นอยู่กับจำนวนที่พ่อค้านำเข้ามา หากนำเข้ามามากก็จะทำให้เกิดภาวะเบี้ยเฟ้อ กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงเห็นว่า หอยเบี้ยเป็นสัตว์ วิธีการได้มานั้นเป็นการทำบาป จึงรับสั่งให้พระยาคลังสั่งทำแบบเหรียญโลหะตัวอย่างจากประเทศอังกฤษเพื่อนำมาใช้แทนหอยเบี้ย เรียกว่า “เหรียญเมืองไท” มี 2 แบบ คือ หน้าเหรียญเป็นรูปดอกบัวและรูปช้าง แต่ทรงไม่โปรดจึงไม่ได้สั่งผลิตออกมาใช้ และทรงรับสั่งให้ผลิตขึ้นใหม่ แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน

จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการทำสนธิสัญญาการค้ากับต่างประเทศและมีความต้องการใช้เงินจำนวนมาก เงินพดด้วงมีจำนวนไม่เพียงพอ รวมทั้งมีการปลอมขึ้นมามาก หอยเบี้ยจึงกลายเป็นเงินปลีกย่อยที่มีราคาน้อยสุดหรือแทบไม่มีราคาเลย ประกอบกับในขณะนั้นได้รับเครื่องจักรผลิตเหรียญโลหะมาจากประเทศอังกฤษและเริ่มมีการผลิตเหรียญ การใช้หอยเบี้ยจึงค่อยๆ ลดลงไปจากสังคม และหายไปจากระบบเงินตรานับแต่นั้นเป็นต้นมา

อัตราแลกเปลี่ยนหอยเบี้ย

ในสมัยสุโขทัย หอยเบี้ยมีอัตราแลกเปลี่ยนคือ 800 เบี้ยต่อเฟื้อง (6,400 เบี้ยต่อบาท) สมัยอยุธยา 800-900 เบี้ยต่อเฟื้อง (6,400-7,200 เบี้ยต่อบาท) ถึงแม้สมัยอยุธยาจะมีการใช้เงิน ทองและทองแดงแล้ว เบี้ยก็ยังเป็นเงินตราปลีกย่อยราคาต่ำที่สุดที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย

ในสมัยกรุงธนบุรี ยังคงใช้หอยเบี้ยเป็นเงินตราปลีกย่อยคู่กับเงินพดด้วง แต่มีอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงมาก คือ 200 เบี้ยต่อเฟื้อง (1,600 เบี้ยต่อบาท) เนื่องจากในสมัยนั้นบ้านเมืองต้องประสบกับภาวะสงคราม รวมถึงสภาพเศรษฐกิจบ้านเมืองในขณะนั้น เบี้ยเพียง 3-4 เบี้ยก็สามารถซื้อหาของกินได้แล้ว

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา ได้ใช้หอยเบี้ยกับเงินพดด้วงเป็นเงินตราแลกเปลี่ยน แต่กำหนดให้มีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 400 เบี้ยต่อเฟื้อง (3,200 เบี้ยต่อบาท) และกำหนดบทลงโทษหากมีใครซื้อขายเบี้ยเกินนี้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 มีพ่อค้านำหอยเบี้ยเข้ามามาก ทำให้เกิดภาวะเบี้ยเฟ้อ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1,300 เบี้ยต่อเฟื้อง (10,400 เบี้ยต่อบาท) จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 มีการนำเครื่องผลิตเหรียญโลหะเข้ามา หอยเบี้ยจึงค่อยๆ หายไปจากระบบเงินตรา

เงินพดด้วง

เงินพดด้วง เป็นเงินตราของไทย ใช้แลกเปลี่ยนกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึง กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทำมาจากแท่งเงินทุบปลายเข้าหากัน มีรูปร่างคล้ายลูกปืนโบราณ ชาวต่างประเทศเรียกเงินชนิดนี้ว่า Bullet Coin ส่วนคนไทยเห็นว่ามีรูปร่างคล้ายตัวด้วงจึงเรียกกันว่าเงินพดด้วง โดยเงินพดด้วงแต่ละสมัยจะมีตราประทับแตกต่างกันไป แต่มักจะมีตราประทับมากกว่า 2 ดวงเช่น ตราสัตว์ชั้นสูงและตราประจำรัชกาล โดยใช้กัน 5 หน่วย คือ ไพ เฟื้อง สลึง บาท และตำลึง

ในสมัยสุโขทัย พระเจ้าแผ่นดินอนุญาตให้ประชาชนผลิตเงินพดด้วงขึ้นใช้เองได้ ทำให้เงินพดด้วงไม่มีมาตรฐานแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของน้ำหนัก ขนาด ตลอดจนชนิดของเนื้อเงินที่ใช้ทำ ต่อมาในสมัยอยุธยา เงินพดด้วงจะมีลักษณะต่างจากสมัยสุโขทัย คือมีน้ำหนัก ขนาดและตราประทับที่ได้มาตรฐานเท่ากัน เนื่องจากหลวงเป็นผู้ผูกขาดในการผลิต

เงินพดด้วงถูกใช้เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อการค้ากับต่างประเทศขยายตัวขึ้น ความต้องการใช้เงินก็มากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ไม่สามารถผลิตเงินพดด้วงได้ตามต้องการ จึงเริ่มผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้น และได้ประกาศให้เลิกใช้เงินพดด้วงในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมกับยกเลิกหน่วย ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง และเปลี่ยนมาใช้เป็นบาท และสตางค์ คือ 100 สตางค์ เป็น 1 บาท

ขอขอบคุณข้อมูล

http://emuseum.treasury.go.th/article/597-shell.html

http://www.royalthaimint.net/ewtadmin/ewt/mint_web/ewt_news.php?nid=46&filename=index


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment