GUNKUL ปิดปี 66 กำไรพุ่งแตะ 1.57 พันล้าน ทุ่มงบลงทุน 5 ปี มูลค่า 4.5 หมื่นล้าน

กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ประกาศผลการดำเนินงานปี 66 มีกำไรสุทธิ 1,576.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.08% ส่วนรายได้รวมเท่ากับ 7,737.12 ล้านบาท เดินหน้าพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนที่ได้รับคัดเลือกและเซ็น PPA ด้วยงบลงทุน 5 ปี มูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานงวดปี 2566 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยมีรายได้รวม 7,77.12 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานปกติ 1,576.18 ล้านบาท จากผลการดำเนินงานที่เติบโต ทั้งในส่วนของพลังงานทดแทน และงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ในปี 2566 บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนในประเทศ และได้รับคัดเลือกตามประกาศ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 จำนวน 17 โครงการ รวม 832.4 เมกวัตต์ โดยบริษัทฯ ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟแล้ว จำนวน 14 โครงการ รวม 621.4 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง และทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

นอกจากนี้บริษัทยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทต้องใช้งบลงทุนด้านพลังงานทดแทนใน 5 ปี ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 4.5 หมื่นล้าน ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท จึงเห็นชอบให้ดำรงเงินสดไว้ในกิจการเพื่อนำไปลงทุน จึงเห็นควรให้งดจ่ายเงินปันผลเพิ่มเติมประจำปี สำหรับผลการดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนที่บริษัทมีอยู่ รวมถึงเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้กับกิจการและผู้ถือหุ้นต่อไป

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 บริษัทได้มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงาน สำหรับงวดสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 ในอัตรา 0.06 บาท/หุ้น คิดเป็น ร้อยละ 52.23 ของกำไรสุทธิ และ/หรือ คิดเป็นร้อยละ 45.75 สำหรับงวดสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งยังคงเป็นไปตามนโยบายการจ่ายเงินปันผล ที่บริษัทได้กำหนดไว้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของงบการเงินเฉพาะกิจการ ทั้งนี้อัตราการจ่ายเงินปันผลเทียบกับราคาหุ้น (Dividend Yield) หลังหักสำรองใด ๆ มีอัตราที่ใกล้เคียงกับปีก่อน

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมความพร้อมด้านนวัตกรรมพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ และปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับภูมิทัศน์ทางธุรกิจ (Business Landscape) ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป และเน้นความร่วมมือกับพันธมิตรในการที่จะพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนในหลากหลายรูปแบบ เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้าและการติดตั้งพลังงานทดแทนให้แก่ประชาชนที่สนใจอยากเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มโกดังไฟฟ้าดอทคอม (www.godungfaifaa.com) และแพลตฟอร์มศูนย์รวมผู้รับเหมาโซลาร์ Volt (www.voltmarketplace.com) โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวได้นำมาใช้งานในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา และสร้างรายได้เพิ่มให้กับกลุ่มบริษัทอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานไฟฟ้า (Peer-to-Peer Energy Trading) เพื่อเป็นการรองรับการผลิตพลังงานหมุนเวียนและศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจ New S-Curve เช่น ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant)รวมถึงแสวงหาโอกาสในการลงทุนด้านพลังงานทดแทน ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัทมีโครงการอยู่ในมือแล้ว รวม 1,563 เมกะวัตต์ และบริษัทคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า บริษัทจะสามารถมีจำนวนเมกะวัตต์สะสม เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2,000 เมกะวัตต์ และมีรายได้รวม 10,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันในปี 2566 แสดงจำนวน 7,737 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจำนวน 2,263 ล้านบาท


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment