ดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น พ.ศ. 2558-2560

#คอร์รัปชั่นไทย โชคร้ายซ้ำซ้อน

โดย นายเกษมสันต์ วีระกุล #สำนักข่าวสับปะรด

พลันที่ #องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ ประกาศดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของปี พ.ศ. 2560 ว่าไทยเราได้คะแนนสูงขึ้น 2 คะแนนเป็น 37 จากคะแนนเต็ม 100 และได้อันดับที่ดีขึ้น 5 อันดับ จากที่ 101 เป็น 96 จากทั้งหมด 180 ประเทศ กองเชียร์รัฐบาลต่างก็ออกมาส่งเสียงโห่ร้องยินดี ว่าสถานการณ์คอร์รัปชั่นของไทยดีขึ้นแล้ว

ความจริงก็คือ ไทยเราเข้าร่วมวัดดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ซึ่งในปีนั้นมีประเทศเข้าร่วมวัด เพียง 41 ประเทศไทยเราโปร่งใสเป็นอันดับที่ 34 ได้คะแนนเพียง 2.79 จากคะแนนเต็ม 10 หลังจากนั้นเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันคะแนนดัชนีภาพลักษณ์ของไทยไม่เคยได้เกิน 3.8 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 หรือไม่เคยได้เกิน 38 คะแนน เมื่อมีการเปลี่ยนคะแนนเต็มให้เป็น 100 คะแนน สะท้อนว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมาการปราบคอร์รัปชั่นของประเทศไทยเรา “สอบตก” มาโดยตลอด

แม้ว่าเราจะมี ปปช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 และแม้ว่า ปปช.จะบอกว่ามียุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนปัจจุบันก้าวเข้าสู่ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะ 3 เข้าไปแล้วนั้น ก็ไม่ได้ทำให้คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทยเราดีขึ้นจนเห็นได้ชัดแต่อย่างใด

แม้ว่าไทยเราจะมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) พร้อมๆกับมีผู้ตรวจการแผ่นดินในช่วงปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา มีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในปี พ.ศ. 2545 และมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตภาครัฐ (ปปท.) ในปีพ.ศ. 2551 หน่วยงานเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถทำให้คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทยเราดีขึ้น จนผ่านเกณฑ์ครึ่งหนึ่งหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ได้เลย ระหว่างปี พ.ศ. 2542 จนถึงปีล่าสุด คะแนนของเราแกว่งอยู่ในช่วงแคบๆ ระหว่าง 32 ถึง 38 คะแนนเท่านั้น และตลอดระยะเวลา 23 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 3 ปีเท่านั้น ที่คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทยเรามีคะแนนสูงสุดคือ 38 คะแนน

นั่นคือโชคร้ายขั้นที่ 1 ของไทยที่เกิดจากความล้มเหลวของหน่วยงานปราบคอร์รัปชั่นทั้งหมดที่มีของไทย ทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพการทำงาน ความเป็นอิสระและความโปร่งใสของหน่วยงานเหล่านี้ ถึงเวลาหรือยังที่ไทยจะต้องเร่งปฏิรูปองค์กรเหล่านี้ใหม่ทั้งหมด ให้เป็นองค์กรที่มีความสามารถ มีอิสระ มีความโปร่งใส และสามารถถูกตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย มีรูปแบบองค์กรปราบคอร์รัปชั่นที่ไทยควรจะไปศึกษา

นอกจากองค์กรปราบคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใสแล้ว หลายประเทศซึ่งเคยเผชิญปัญหาคอร์รัปชั่นหนักเช่นไทยเราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความตั้งใจจริงของผู้นำเป็นปัจจัยสำคัญในการปราบคอร์รัปชั่นได้สำเร็จ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา ไทยเรามีนายกรัฐมนตรีมาทั้งสิ้น 10 คน นักการเมืองที่มาตามระบอบก็ เช่น ชวน หลีกภัย บรรหาร ศิลปอาชา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ทักษิณ ชินวัตร สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทหารที่มากับการรัฐประหารมีสองคนคือ พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทุกคนล้วนมากับนโยบายและลมปากที่อาสาเข้ามาเพื่อปราบคอร์รัปชั่นทั้งสิ้น แต่ประชาชนก็ยังไม่เห็นความแตกต่างของคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นในแต่ละสมัยของนายกฯแต่ละคน

เมื่อพิจารณาดูนายกฯ ที่มากับรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 ถึงปี พ.ศ. 2550 คะแนน ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทยเราได้คะแนน 3.6 และ 3.3 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน หรือในยุค คสช.ซึ่งเข้ามายึดอำนาจตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปรากฏว่า คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทยเราตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ถึง 2560 อยู่ที่ 38 38 35 และ 37 คะแนนตามลำดับ ไม่ได้แตกต่างไปจากสมัยที่นักการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

นายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งบริหารสูงสุดของประเทศไทย โดยเฉพาะในห้วงเวลาพิเศษเช่นนี้นายกฯยิ่งมีอำนาจเต็มมากกว่าปกติ เมื่อนายกฯตั้งใจจะปราบคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นปัญหาร้ายแรงของประเทศย่อมจะทำได้อย่างเต็มที่ท่ามกลางแรงสนับสนุนของประชาชนที่เฝ้ารออยู่ ประเทศอื่นซึ่งนายกฯมาจากการเลือกตั้ง แม้จะมีอำนาจไม่เต็ม เท่านายกฯ ของ คสช.ยังสามารถปราบคอร์รัปชั่นแบบเด็ดขาดได้ รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลของสิงคโปร์คอร์รัปชั่น นายกฯ ลี กวนยู ยังกล้าจับรัฐมนตรีคนนั้นติดคุกได้ ทำไมนายกฯไทยจะทำบ้างไม่ได้

เรื่องนี้เป็นโชคร้ายชั้นที่ 2 ของเมืองไทยเราที่ไม่เคยมีนายกฯซึ่งมีความตั้งใจจริงที่จะมาปราบคอร์รัปชั่นเลยสักคน

เมื่อมองออกไปดูคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศใน AEC ในช่วงปี พ.ศ. 2555 – 2560 เราจะพบว่า สิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่โกงน้อยที่สุดใน AEC ต่อไปอีกที่ 84 คะแนนได้อันดับที่ 6 รองลงไปคือบรูไนที่ได้ 62 คะแนนดีขึ้นมา 7 คะแนนได้อันดับที่ 32 ของโลก อินโดนีเซียก็ทำได้ดีขึ้น เพราะในรอบ 6 ปีที่ผ่านมานั้นได้ คะแนนสูงขึ้น 5 คะแนนเป็น 37 คะแนนเท่าเมืองไทยซึ่ง 6 ปีที่ผ่านมานั้นได้คะแนนเท่าเดิม

คะแนนของ CLMV ในช่วงพ.ศ. 2555- 2560 นั้น มีสามประเทศที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจคือ เมียนมาร์ ได้คะแนนเพิ่มขึ้น 15 คะแนนเป็น 30 คะแนนอยู่อันดับที่ 130 สปป.ลาวได้คะแนนเพิ่มขึ้น 8 คะแนนได้ 29 คะแนนอยู่อันดับที่ 135 ขณะที่เวียดนามมีคะแนนเพิ่มขึ้นอีก 4 คะแนนเป็น 35 คะแนนตามหลังไทยเพียง 2 คะแนนได้อันดับที่ 107 ในกลุ่มนี้นั้นมีเพียงกัมพูชาที่คะแนนลดลงไปหนึ่งคะแนน อยู่ที่ 21 คะแนนได้ลำดับที่ 161

ฟิลิปปินส์ซึ่งผู้นำเร่งปราบทั้งยาเสพติดและคอร์รัปชั่น แต่การปราบผู้ค้ายาซึ่งใช้กระบวนการศาลเตี้ยวิสามัญ ฆาตกรรมผู้คนเยอะไปหน่อยทำให้คะแนนคงอยู่ที่ 34 คะแนนเหมือนเมื่อ 6 ปีที่แล้วได้อันดับที่ 111 หลังจากทำท่า จะขยับดีขึ้น ส่วนมาเลเซียหลังจากที่เริ่มมีปัญหาการคอร์รัปชั่นใน 1MDB ซึ่งนายกฯนาจิบ มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยนั้น เลยทำให้คะแนนซึ่งเคยได้เกิน 50 คะแนนล่วงลงไปเหลือเพียง 47 คะแนนได้อันดับที่ 62 ของโลก

โดยสรุปสถานการณ์คอร์รัปชั่นในไทยยังคง “ติดกับดักการโกง” คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น ขณะที่เพื่อนบ้าน AEC ส่วนมากเริ่มขยับไปในทิศทางที่ถูกต้อง วันนี้ไทยเราอาจจะโปร่งใสเป็นรองแค่สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย แต่ถ้าในอนาคตอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามสามารถเบียดแซงไทย ไปจนเราตกไปอยู่ที่ 7 ของกลุ่มแล้วล่ะก็ คงไม่ต้องถามถึงอนาคตของประเทศกันอีกต่อไป ***


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment