มหาตมะ คานธี

30 มกราคม พ.ศ. 2491 ท่ามกลางเสียงสวดมนต์ของผู้คนจำนวนมาก เกิดเสียงปืนดังขึ้น 3 นัด หลังสิ้นเสียงปืน ชายผู้หนึ่งล้มลงนอนจมกองเลือด ผู้คนต่างหวีดร้องด้วยความตกใจ แต่ไม่มีใครได้ยินเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดจากเขาเลย กลับมีเพียงความสงบนิ่ง และคำกล่าวลาว่า “ราม” ที่แปลว่า “พระผู้เป็นเจ้า”

.

ชายผู้นี้ คือ “มหาตมะ คานธี” มหาบุรุษผู้นำเอกราชคืนสู่อินเดีย

แม้จะเสียชีวิตมา 70 ปีแล้ว แต่ทำไมบุรุษผู้นี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนนับล้าน และยังเป็นแบบอย่างให้กับผู้นำและรัฐบุรุษมีชื่อเสียงระดับโลก มาทำความรู้จักกับมหาบุรุษผู้นี้กันค่ะ

.

บุรุษผู้แสนสมถะ นามว่า “คานธี” คนนี้ มีชื่อเดิมว่า “โมฮันดาส คารามจันท์ คานธี” (Mohandas Karamchand Gandhi) เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2412 

.

พ.ศ. 2431 คานธี เดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศอังกฤษ ที่ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้การใช้ชีวิตด้วยความอดทนและมุมานะจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกินอยู่ วัฒนธรรมและปัญหาจากการถูกเหยียดผิว หลังเรียนจบ คานธี เดินทางกลับมาอินเดีย และเริ่มต้นทำงานด้วยการเป็นทนายความ แต่อาชีพทนายความที่อินเดียกลับไม่ประสบความสำเร็จ เขาจึงไปรับเป็นทนายความให้กับบริษัทมุสลิมในแอฟริกาใต้ 

.

ช่วงนี้เองถือเป็นจุดหักเหของชีวิตคานธี เพราะต้องประสบกับเหตุการณ์ความไม่ยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมของคุณค่าความเป็นมนุษย์ในสังคมแอฟริกาใต้ อันเป็นแรงผลักดันให้คานธีกล้าที่จะต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่มคนผิวสี 

.

การต่อสู้เรียกร้องสิทธิในแอฟริกาใต้ ทำให้ชื่อเสียงของคานธีโด่งดังมาถึงอินเดีย ถือเป็นบันไดขั้นแรกและเป็นสนามฝึกฝนของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชให้กับอินเดียในเวลาต่อมา 

.

พ.ศ. 2458 เมื่อเดินทางกลับมาถึงอินเดีย คานธีได้ก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้แก่ชาวอินเดียที่ถูกรัฐบาลอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมกดขี่ โดยการขอความร่วมมือให้ชาวอินเดียหยุดงาน เดินประท้วง หรือใช้การดื้อแพ่งทางกฎหมายไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวอินเดียเกือบทั่วประเทศ

.

หลักการที่คานธีใช้ในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชให้กับอินเดีย คือ การยืนหยัดอยู่บนความเป็นจริงและความถูกต้อง ต่อสู้ในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ที่สำคัญคือไม่ใช้กำลังและปราศจากความรุนแรง ที่เรียกว่า “การต่อสู้แบบอารยะขัดขืน” ซึ่งเป็นหลักการสำคัญตาม “หลักสัตยะเคราะห์” และ “อหิงสา”

.

การต่อสู้ที่แสดงให้เห็นถึงหลักสัตยะเคราะห์และอหิงสาอย่างชัดเจนที่สุด คือการเดินขบวนเกลือ (Salt March) ใน พ.ศ. 2473 ที่รัฐบาลอังกฤษออกกฎหมายห้ามคนอินเดียผลิตและขายเกลือในประเทศตัวเอง หากใครฝ่าฝืนจะถูกจับติดคุก และยังเรียกเก็บภาษีเกลือในอัตราสูง ทำให้คานธีออกมารณรงค์ด้วยการเดินเท้าไปยังชายทะเล เป็นระยะทางเกือบ 400 กิโลเมตร ระหว่างทางมีประชาชนเข้าร่วมขบวนนับแสนคน เมื่อเดินถึงที่หมาย คานธีก้มลงกอบดินเลนขึ้นมาในกำมือ เพื่อผลิตเกลือเองแบบง่ายๆ หลังจากนั้นชาวอินเดียต่างพากันผลิตเกลือกันเองโดยไม่กลัวกฎหมาย

.

การต่อสู้ที่ดื้อแพ่งและท้าทายอังกฤษอย่างสันติในครั้งนั้น จุดประกายให้คนอินเดียนับล้าน เริ่มต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดียจากอังกฤษ กลายเป็นประเด็นที่นานาชาติต่างจับจ้องและให้การสนับสนุน ทำให้อำนาจของอังกฤษเริ่มสั่นคลอน จนในที่สุด อังกฤษยอมคืนเอกราชให้กับอินเดียเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2490

.

พลังแห่งความศรัทธา และพลังแห่งความเชื่อมั่นในการต่อสู้แบบไม่ต้องใช้กำลัง ตามหลักสัตยะเคราะห์และหลักอหิงสาของ มหาตมะ คานธี สามารถหล่อรวมจิตใจของชาวอินเดียให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและพร้อมจะต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่บุรุษผู้นี้อย่างไม่ลังเล

#สำนักข่าวสับปะรด #Onthisday#MahatmaGandhi


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment