กสิกรไทยตั้งเป้าอัดฉีดเงินทุนเพื่อความยั่งยืน 2 แสนล้านบาทภายในปี 2573

กสิกรไทยขับเคลื่อนด้วย ESG พร้ออัดฉีดสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปแล้วกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าไปสู่ 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2573 ช่วยลูกค้ารายเล็กให้เข้าถึงสินเชื่อ ให้ได้ 1.9 ล้านราย ภายในปี 2568 ย้ำทุกสินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าขนาดกลางขึ้นไป เข้าสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยง ESG ครบ 100%

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารที่ดำเนินธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) มาอย่างต่อเนื่อง จึงเล็งเห็นความสำคัญจำเป็นเร่งด่วนและโอกาสต่อเศรษฐกิจไทย ได้ประกาศ KBank ESG Strategy 2566 วางยุทธศาสตร์เรื่องการขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการ ESG โดยกำหนดกลยุทธ์การทำงานที่เป็นระบบ เน้นการวัดผล และพัฒนาการดำเนินงานตามหลักการและมาตรฐานสากล พร้อมมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้าน ESG ของกลุ่มธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำพาลูกค้าและธุรกิจไทยเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน โดยมีแผนงานและเป้าหมายในมิติต่าง ๆ ดังนี้

มิติสิ่งแวดล้อม

ธนาคารกสิกรไทยประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ทั้งในการดำเนินงานของธนาคาร (Scope 1 และ 2) และในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร (ขอบเขตที่ 3) โดยในปี 2565 มีการดำเนินงาน แล้ว ได้แก่

ปรับกระบวนการทำงานของธนาคาร (Scope 1 และ 2) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ทยอยเปลี่ยนรถยนต์เป็น EV ติดตั้ง Solar Roof บนอาคารสำนักงาน และสาขาที่ธนาคารเป็นเจ้าของพื้นที่ โดยในครึ่งปีแรกของปี 2565 สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 13.52% (เทียบปีฐาน 2563) และตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคารอย่างต่อเนื่อง สู่เป้าหมาย Net Zero ใน Scope 1 และ 2 ภายในปี 2573

ดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร (Scope 3) เริ่มจากการประเมินก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตโฟลิโอสินเชื่อของธนาคาร ศึกษาความเป็นไปได้และความซับซ้อนในการปรับเปลี่ยนโดยพิจารณาบริบทของประเทศ และนำมาจัดลำดับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเร่งด่วน ซึ่งในปี 2565 ธนาคารประเมินและจัดทำแผนกลยุทธการลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) จำนวน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มเหมืองถ่านหิน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 27% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร (Portfolio Emission) และเตรียมขยายการทำงานร่วมกับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญอื่น ๆ ตามลำดับ เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ตามเป้าหมายของประเทศไทย

สนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing (Loan) and Investment) ธนาคารให้สินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในปี 2565 ไปแล้วกว่า 16,000 ล้านบาท และเตรียมจัดสรรเงินทุนด้านความยั่งยืนรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่องรวม 200,000 ล้านบาท ภายในปี 2573

พัฒนาบริการ Beyond Financial Solutions ผสานเทคโนโลยีและความร่วมมือกับพันธมิตร เชื่อมต่อความร่วมมือตลอดซัพพลายเชน ออกโครงการที่เป็นมากกว่าบริการทางการเงินเพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงไลฟ์สไตล์กรีนได้ง่ายยิ่งขึ้น และกระจายสู่วงกว้างได้มากขึ้น อาทิ โครงการ SolarPlus ติดตั้งโซลาร์รูฟให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และโครงการส่งเสริมการเช่าใช้งาน EV Bike ที่ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลายและช่วยให้ไรเดอร์กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยธนาคารจะเดินหน้าขยายโซลูชั่นเหล่านี้ไปสู่ลูกค้าในวงกว้างต่อเนื่อง

มิติสังคม

ธนาคารกำหนดยุทธศาสตร์สร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินและการให้ความรู้ทางการเงินและไซเบอร์ (Financial Inclusion and Financial/Cyber Literacy) ด้วยการปรับปรุงกระบวนการพิจารณาการให้สินเชื่อ โดยใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาจากความเสี่ยง การประเมินความสามารถในการชำระเงิน การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งความรวดเร็วในการติดตามการชำระคืนหนี้และการฟื้นฟู การทำงานด้วยการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร และประสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งมอบบริการสินเชื่อควบคู่การให้ความรู้ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของลูกค้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เกิดเป็นผลการดำเนินงานและเป้าหมาย ดังนี้

สร้างการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial inclusion) แก่ลูกค้ารายเล็ก (Small-pocket Customers) ได้แก่ ลูกค้าบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งอาจไม่มีบัญชีเงินเดือน ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ โดยธนาคารจะพิจารณาอนุมัติจากข้อมูลอื่น ๆ ประกอบ รวมถึงลูกค้าธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อปี โดยในปี 2565 (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน) ธนาคารให้สินเชื่อลูกค้ารายเล็กเป็นจำนวนกว่า 500,000 ราย มูลค่าสินเชื่อกว่า 23,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายปี 2568 จะให้ลูกค้ารายเล็กจำนวน 1,900,000 ราย เข้าถึงสินเชื่อได้

ให้ความรู้ทางการเงินและความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Financial and Cyber Literacy) ด้วยการออกแคมเปญสื่อสารที่จะสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ เข้าถึงลูกค้าได้ 10 ล้านราย ในปี 2566

ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้า ปกป้องทรัพย์สินของลูกค้า การให้บริการที่ปลอดภัย และดูแลอย่างทันท่วงที ด้วยการส่งมอบบริการที่มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการความเสี่ยง และการกำกับดูแลมาตรฐานการให้บริการอย่างครอบคลุม

มิติธรรมาภิบาล

ธนาคารให้ความสำคัญเรื่องเกณฑ์การพิจารณาตามหลัก ESG เพื่อดูแลให้สินเชื่อที่ปล่อยไปจะไม่สร้างผลกระทบเชิงลบแก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้ทุกสินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไป ต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ทั้ง 100% โดยในปี 2565 (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน) มีสินเชื่อที่ผ่านกระบวนนี้ กว่า 340,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ธนาคารทำงานโดยนำหลักการ ESG เข้าไปอยู่ในทุกกระบวนการ พบว่ามีความท้าทายสำคัญในประเด็นการจัดการที่ต้องพิจารณาจากมิติที่หลากหลาย ดังนั้น หัวใจของการขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน คือ ต้องรักษาสมดุลการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง และต้องมีแผนสำรองอยู่เสมอ เพื่อพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment