ออมสินรับจ้างดูบัญชีวัด 2 พันแห่งร่วมใช้ไอทีคุมเงินบริจาคต้านทุจริต

ปัญหาเรื่องเงินทอนวัดยังคงถูกตรวจสอบและขยายวงออกไปเรื่อยๆ และเชื่อว่าจะมีพระสงฆ์ ฆราวาส ข้าราชการ อีกหลายรายจะถูกจับดำเนินคดี

เป็นเรื่องทุจริตส่วนหนึ่งจากอีกหลายส่วนที่มีการตรวจพบ สาเหตุหนึ่งก็คือเรื่องของการจัดทำบัญชีที่ไม่มีระบบควบคุม และอาจมีเรื่องของกระบวนการที่หวังจะบิดเบือนและบดบังเงิน โดยเฉพาะวัดที่มักจะขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญและระบบตรวจสอบที่ดีพอ

ธนาคารออมสินในฐานะที่เป็นองค์กรที่ติด 1 ใน 5 ขององค์กรที่มีคุณธรรมสุงสุดของประเทศ จึงพร้อมเสนอตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดปัญหาความไม่โปร่งใสในการบริหารเงินบริจาคของวัดวาอาราม

โดยธนาคารได้จัดทำโครงการเปิดบัญชีธนาคารให้กับวัดต่างๆ เพื่อรับบริจาคเงินผ่านระบบคิวอาร์โค้ด พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศ หวังเชิญชวนเปิดบัญชีรับบริจาคเงินเข้าวัดโดยตรงกับธนาคารออมสิน

ล่าสุด มีการเปิดบัญชี 2,000 วัด ส่วนใหญ่เป็นวัดขนาดใหญ่ที่มีเงินหมุนเวียนสูง ตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้จะมีวัดเปิดบัญชีไม่ต่ำกว่า 3,000 วัด หรือคิดเป็นร้อยละ 10 จากปริมาณวัดทั่วประเทศ 40,000 วัด

ทั้งนี้ การเข้าไปช่วยจัดการดังกล่าว ไม่ได้เป็นการควบคุมเงินวัดหรือการเดินบัญชีของวัดต่างๆ แต่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสและการบริหารจัดการเงินของวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารออมสินสามารถส่งรายชื่อผู้บริจาคเงินผ่านคิวอาร์โค้ดแต่ละวัดส่งให้กรมสรรพากร เพื่อออกใบอนุโมทนาบุญก่อนนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า การเข้าไปดูระบบเงินบริจาคของวัดจะเป็นการช่วยเหลือให้การบริหารเงินของวัดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือว่าเป็นอีกบทบาทหนึ่งของออมสินในร่วมต้านปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น

ที่ผ่านมา ออมสินได้วางระบบต่างๆ จนส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ รวมถึงคุณภาพการปล่อยสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถคัดกรองลูกค้าอย่างเป็นระบบ พิจารณาตรงไปตรงมา ทำให้มีความโปร่งใสและไม่สามารถยัดเงินใต้โต๊ะได้เหมือนอดีต ส่งผลทำให้การปล่อยสินเชื่อมีคุณภาพและช่วยควบคุมปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าลดเอ็นพีแอลเหลือร้อยละ 2.2 - 2.3 จากปัจจุบันร้อยละ 2.4 ต่ำที่สุดในระบบสถาบันการเงิน


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment