{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2505 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ยกย่องให้ “กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” เป็นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งนับเป็นคนไทยคนแรกที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และทรงได้รับการถวายพระนามว่า "บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย" เนื่องจากพระองค์ได้ทรงวางรากฐานและรังสรรค์ผลงานด้านการพัฒนาประเทศหลากหลายด้าน รวมถึงผลงานนิพนธ์ที่กลายมาเป็นมรดกทางปัญญาของคนไทยจวบจนปัจจุบัน
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระนามเต็มว่า “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ประสูติเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2405 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 57 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระองค์ทรงเป็นต้นราชสกุล “ดิศกุล”
พระองค์ทรงเริ่มเรียนหนังสือชั้นต้นในพระบรมมหาราชวัง และทรงศึกษาภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวง ต่อมาเมื่อมีพระชนม์ได้ 13 พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรีทหารมหาดเล็กบังคับกองแตรวง เมื่อพระชนม์ได้ 15 พรรษา
พระองค์ทรงงานในด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และทรงงานเพื่อช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด กระทั่ง พ.ศ. 2472 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งสูงที่สุดสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์
ผลงานด้านต่างๆ
ด้านการเมืองการปกครอง
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงทำการปฏิรูปการปกครอง โดยเปลี่ยนลักษณะการปกครองแบบมีหัวเมืองประเทศราช มาเป็นการปกครองในแบบมณฑลเทศาภิบาลปกครองท้องที่ คือ ยกเลิกหัวเมืองประเทศราชทั้งหมด แล้วมาจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เมือง และมณฑล เพื่อง่ายต่อการบริหารประเทศ และยังทรงริเริ่มจัดตั้งการสุขาภิบาลหัวเมือง โดยเริ่มที่ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาครเป็นแห่งแรก นับเป็นการปูพื้นฐานการปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศ
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงริเริ่มก่อตั้ง “กระทรวงมหาดไทย” และดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นพระองค์แรก อีกทั้งยังทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเป็นพระองค์แรกอีกด้วย
ด้านการศึกษา
พระองค์ทรงริเริ่มจัดการศึกษาขึ้นใน พ.ศ. 2425 โดยเปลี่ยนโรงเรียนทหารมหาดเล็กมาเป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ที่มีการฝึกสอนแบบทหารรวมกับการเรียนแบบสามัญทั่วไป พระองค์ทรงดำเนินการเองทุกอย่าง ตั้งแต่การร่างหลักสูตร เป็นครูสอน ร่างข้อสอบ ตรวจข้อสอบ ไปจนถึงจัดทำประกาศนียบัตร
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงก่อตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน” เมื่อพ.ศ. 2442 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” และ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยใน พ.ศ. 2459
พระองค์ยังคงทรงทุ่มเทให้กับการศึกษาไทย โดยทรงริเริ่มก่อตั้งกรมธรรมการขึ้นและทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธรรมการพระองค์แรก ซึ่งต่อมาภายหลังคือ “กระทรวงศึกษาธิการ” นั่นเอง นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสถานที่สำคัญที่เกี่ยวกับการศึกษาอีกหลายแห่ง เช่น กรมศิลปากร พิพิธภัณฑสถาน หอสมุดพระนคร หรือราชบัณฑิตยสภา อีกทั้งยังทรงดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภาอีกด้วย
ด้านประวัติศาสตร์
ระหว่างที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา ทรงนิพนธ์หนังสือตำราต่างๆ ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมทั้งยังทรงอนุรักษ์และเก็บรักษา หนังสือล้ำค่าเหล่านี้ไว้มากกว่า 650 เรื่อง ได้แก่ ประวัติบุคคลสำคัญ 180 เรื่อง การ ศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณี 146 เรื่อง ด้านศิลปะวรรณคดีอีก 111 เรื่อง ประวัติ ศาสตร์โบราณคดี 103 เรื่อง และภูมิศาสตร์การท่องเที่ยวอีก 74 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีกวีนิพนธ์ และวรรณคดีอีกจำนวนหนึ่งด้วย
ด้านสาธารณสุข
พระองค์ทรงมีพระดำริให้ริเริ่ม “โอสถศาลา” เพื่อรับหน้าที่ผลิตยาแจกจ่ายให้กับราษฎรที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งปัจจุบันคือ สถานีอนามัย พร้อมทั้งจัดตั้งสถานที่ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือปาสตุรสภา และริเริ่มก่อตั้งกรมพยาบาลขึ้น ซึ่งปัจจุบันคือ “กระทรวงสาธารณสุข” นั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูล
http://www.moi.go.th/portal/page?_pageid=235,804615,235_804633&_dad=portal&_schema=PORTAL
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS