{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ภาพรวมมูลค่าธุรกิจค้าปลีกในปี 2565 จะกลับมาขยายตัวอยู่ที่ราวที่ 11%YOY เป็น 3.45 ล้านล้านบาทจากการผ่อนคลายการควบคุมโรค การเพิ่มขึ้นของรายได้ภาคเกษตร และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะปัญหาต้นทุนสินค้าและต้นทุนพลังงานสูงที่จะถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคผ่านการขึ้นราคาสินค้า
• ธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น ตามความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ทยอยฟื้นตัว โดยมีปัจจัยด้านบวกจากการกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติมากขึ้นจากการผ่อนคลายการควบคุมโรคและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ประกอบกับ การมี pent-up demand ของกลุ่มที่มีกำลังซื้อ รวมถึงการฟื้นตัวของรายได้ภาคเกษตร อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยที่ต้องระมัดระวังอย่างภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนและการว่างงานที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค
• การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวดีขึ้น แต่ยังเป็นไปอย่างช้า ๆ แม้ภาครัฐจะลดมาตรการการเดินทางเข้าประเทศและเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา แต่นโยบายการเปิดประเทศของจีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักนั้นคาดว่าจะเริ่มผ่อนคลายในช่วงต้นปี 2566
• การขายสินค้าผ่านช่องทาง non-store ยังมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค โดยในปี 2565 คาดว่าการขายผ่านช่องทาง non-store จะยังเติบโตดีตามการขยายตัวของทั้งการขายออนไลน์และการขายผ่าน TV ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น
การฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกในแต่กลุ่มจะเป็นในลักษณะ uneven โดยกลุ่มที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องแม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าจำเป็นอย่าง Grocery รวมถึงกลุ่มที่ตอบโจทย์เทรนด์ new normal อย่างสินค้าที่ตอบโจทย์สุขภาพ ขณะที่กลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะในหมวดสินค้าไม่จำเป็น อย่างเช่น สินค้าแฟชั่น สินค้าความงาม รวมถึง กลุ่มห้างสรรพสินค้า (Department store) ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากกำลังซื้อที่ยังเปราะบางและปัญหาเงินเฟ้อที่อาจส่งผลให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างจำกัด
• Grocery มีแนวโน้มฟื้นตัวและเติบโตโดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค ประกอบกับผู้ประกอบการยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น
• Home & Garden ได้รับผลบวกจากเทรนด์การใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น แต่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีวัตถุดิบเป็นเหล็ก ซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้นส่งผลให้ราคาของสินค้ากลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น นำไปสู่การชะลอตัวลงของอุปสงค์
• Department store เผชิญกับความท้าทายในการฟื้นตัวเนื่องจากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่จำเป็น ซึ่งอาจส่งผลให้ยอดขายยังไม่ฟื้นตัวกลับมา อีกทั้ง ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นอีกหนึ่งกำลังซื้อที่สำคัญยังไม่ฟื้นตัวในเวลาอันใกล้
• Health & Beauty โดยสินค้า Health ได้รับประโยชน์จากเทรนด์การใส่ใจด้านความสะอาดและดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้สินค้าในหมวด Health หลายชนิดมียอดขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน สินค้าหมวด Beauty อาจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการใช้เวลาที่บ้านมากขึ้นจึงส่งผลให้ไม่มีความจำเป็นที่จะใช้สินค้าในหมวดเพื่อความงาม
• Apparel & Footwear การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของสินค้าแฟชั่นเป็นผลจากการระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าของผู้บริโภค แม้สถานการณ์ที่กลับสู่ภาวะปกติจะช่วยให้ยอดขายฟื้นตัวดีขึ้นบ้าง แต่เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าที่ไม่จำเป็น จึงอาจฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นักจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
3 เทรนด์ค้าปลีกสำคัญที่มีบทบาทและส่งผลต่อการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในระยะต่อไป
• Seamless shopping experience ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทุกช่องทางการจำหน่ายและเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของตนเองมากขึ้น โดยสินค้าที่วางจำหน่ายควรอยู่ในทุกช่องทางที่ผู้บริโภคต้องการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขาย
• Sustainability การให้ความสำคัญกับกระแสความยั่งยืนที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ครอบคลุมทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ไม่ว่าจะเป็นการลดใช้พลาสติก การควบคุมสต็อกเพื่อลดสินค้าเสียทิ้ง การอุดหนุนและช่วยพัฒนากระบวนการผลิตของผู้ประกอบการรายเล็ก
• New business models รูปแบบของสินค้า/บริการใหม่ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น อาทิ Subscription model หรือ Mystery box
EIC มองว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกอาจปรับกลยุทธ์รับมือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
• การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้ในการประมวลผลข้อมูลของผู้บริโภคเพื่อการบริหารสต็อกสินค้าและคาดการณ์ความต้องการสินค้าในอนาคต หรือการจัดเก็บสินค้าด้วยระบบอัตโนมัติเพื่อลดขั้นตอน นำไปสู่การจัดเก็บและการขนถ่ายสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
• การออกแบบประสบการณ์การซื้อสินค้าของผู้บริโภค ในปัจจุบันเทคโนโลยี AR/VR ถูกนำมาใช้แพร่หลายมากขึ้นในธุรกิจค้าปลีก เช่น การทดลองสินค้า โดยผู้บริโภคสามารถทดลองสินค้าได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปหน้าร้าน หรือการจำลองหน้าร้านเสมือนจริงบนโลกออนไลน์ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้จริง นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยี AI ในการเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อนำไปวิเคราะห์และต่อยอดพัฒนาสินค้า/บริการในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องระมัดระวังในทุกขั้นตอนเพื่อที่จะไม่สร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภคซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูล
• การสร้าง engagement กับผู้บริโภค ผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมในการสื่อสารกับผู้บริโภค โดยผู้ประกอบการจะต้องมีความเข้าใจในกลุ่มเป้าหมายของตนเพื่อการเลือกรูปแบบคอนเทนท์ (บทความ รูปภาพ วิดีโอ ไลฟ์) และแพลตฟอร์มที่เหมาะสมเพื่อสื่อสารและสร้างยอดขายอย่างมีประสิทธิภาพ
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS