{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานแถลงข่าวความสำเร็จในการเชื่อมโยงท่าเรือระนอง – จิตตะกอง ร่วมกับนางนลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. H.E. Mr. Faiyaz Murshid Kazi เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศประจำประเทศไทย และนางสาวพจนา พะเนียงเวทย์ กงสุลกิตติมศักดิ์บังกลาเทศประจำประเทศไทย ณ ทำเนียบรัฐบาล
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการแถลงข่าวความสำเร็จในการเชื่อมโยงท่าเรือระนอง - ท่าเรือจิตตะกอง ว่า กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการยกระดับท่าเรือของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากลทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการและการเชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์รูปแบบอื่น โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือในระดับภูมิภาค ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงฯ ที่มุ่งเน้นให้ท่าเรือทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ เป็นประตูการค้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาคใกล้เคียง พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์ในระดับสากลได้อย่างไร้รอยต่อ
ด้วยศักยภาพของท่าเรือระนอง ทั้งการมีที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญบนฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ทำให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปยังมหาสมุทรอินเดียและอ่าวเบงกอลได้ โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา อีกทั้งยังเป็นท่าเรือหลักที่สามารถรองรับการขนส่งด้วยระบบตู้สินค้าตามมาตรฐานสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงฯ จึงได้ผลักดันการพัฒนาเส้นทางขนส่งทางทะเล ผ่านความร่วมมือระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือในกลุ่มประเทศ BIMSTEC ด้วยการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือจิตตะกอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเส้นทางเดินเรือใหม่ที่สามารถลดระยะเวลาการขนส่งจากเดิม 7 - 15 วัน ให้เหลือเพียง 3 - 5 วัน รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล การพัฒนาเทคโนโลยี และการส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ และกลุ่มประเทศ BIMSTEC ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
นางมนพร กล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าผลักดันความร่วมมือระหว่างท่าเรือระนองและท่าเรือจิตตะกองอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านกฎระเบียบและระบบการบริหารจัดการ และด้านการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคเอกชนในด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยในส่วนของด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เร่งจัดทำแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือระนอง อาทิ การวางแผนจัดหาเครนหน้าท่าและเครื่องมือทุ่นแรงเพิ่มเติม การปรับปรุงระบบคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายการเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์แบบบูรณาการทั้งทางถนน ทางราง และทางอากาศ เพื่อให้ท่าเรือระนองมีความพร้อมในการรองรับปริมาณสินค้าที่จะเติบโตในอนาคต และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันกับภูมิภาคโดยรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในไทยและบังกลาเทศ เพื่อลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบ รวมทั้งพัฒนาระบบการบริหารจัดการและปรับปรุงขั้นตอนการขนส่งระหว่างประเทศ เช่น พิธีการศุลกากร การแลกเปลี่ยนข้อมูลล่วงหน้า และการลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน เพื่อให้การขนส่งทางทะเลเป็นไปอย่างราบรื่นและมีต้นทุนที่แข่งขันได้ พร้อมส่งเสริมการจัดกิจกรรม Road Show และ Business Matching ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการสินค้าที่มีศักยภาพ และสามารถรวบรวมสินค้าทั้งขาเข้า-ขาออกให้เพียงพอต่อการเปิดเส้นทางเดินเรือในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม
“ความร่วมมือระหว่างท่าเรือระนองและท่าเรือจิตตะกองในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ทางทะเลของประเทศไทยในระดับภูมิภาค เสริมสร้างบทบาทของไทยในเวที BIMSTEC และเตรียมความพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงเศรษฐกิจเอเชียใต้ และมหาสมุทรอินเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในอนาคต” นางมนพร กล่าวทิ้งท้าย
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข กล่าวเพิ่มเติมว่า กทท. ได้ลงนาม MOU ร่วมกับการท่าเรือจิตตะกอง ประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 โดยมีสาระสำคัญของความร่วมมือ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาท่าเรือของทั้งสองประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างกัน ซึ่ง กทท. จะดำเนินงานต่อยอดความร่วมมือกับท่าเรือจิตตะกอง อย่างเป็นรูปธรรมด้วยการบูรณาการกับหน่วยงานภายนอก อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตทั้งสองประเทศในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับท่าเรือระนองและท่าเรือจิตตะกอง เพื่อให้ผู้ประกอบการเห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเส้นทางใหม่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์และเปิดตลาดใหม่ให้กับผู้ผลิตไทยและบังกลาเทศ ผ่านกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ อาทิ การจัด Road Show และ Business Matching รวมถึงร่วมผลักดันความร่วมมือเชิงนโยบาย เช่น การจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับบังกลาเทศ ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทางภาษีและเพิ่มศักยภาพการค้าในระยะยาว โดยเฉพาะสินค้าศักยภาพ เช่น แร่ดินขาว อาหารทะเล และสินค้าเกษตร เพื่อให้เกิดปริมาณสินค้าที่เพียงพอสำหรับการเปิดบริการเดินเรือระหว่างสองท่าเรืออย่างยั่งยืน พร้อมทั้งการวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือระนองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความพร้อมรองรับปริมาณสินค้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ด้านนางนลินี ทวีสิน กล่าวว่า บังกลาเทศ ถือเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก BIMSTEC ที่มีศักยภาพสูง ด้วยจำนวนประชากรกว่า 170 ล้านคน และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 5 – 7% ต่อปี โดยท่าเรือจิตตะกอง เป็นท่าเรือหลักของประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญในการรองรับสินค้าคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 90 ของการค้าทางทะเลทั้งหมด อีกทั้งยังมีสถิติการเติบโตของตู้คอนเทนเนอร์เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 14 ต่อปี ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพทางการค้าของประเทศที่เติบโตเร็วยิ่งกว่า GDP โดยรวม
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS