โขกซ้ำคนหาเช้ากินค่ำ จ่อขึ้นค่าขนส่ง-ค่าโดยสาร-ราคาสินค้า

กำลังกลายเป็นภาวะตื่นตระหนก โดยเฉพาะคนที่มีเงินเดือนน้อย คนชั้นล่าง คนชั้นกลาง ที่เวลานี้บรรดาผู้ประกอบการรถโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ หรือผู้ประกอบการขนส่งกำลังขอปรับราคาขึ้น ซึ่งอาจรวมไปถึงราคาสินค้าที่พร้อมจะขยับไปพร้อมกับค่าขนส่ง

หลังจากราคาน้ำมันในประเทศขยับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ช่วงตั้งแต่ต้นปี 2561 จนถึง 22 พ.ค. 2561 ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน ไม่ว่าจะเป็น เบนซิน 95 แก๊ซโซฮอล์ 95 แก๊ซโซฮอล์ 91 อี 20 ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.30 บาทต่อลิตร ส่วน ดีเซล ดีเซลพรีเมียม เพิ่มขึ้น 2.20 บาทต่อลิตร และ อี 85 เพิ่ม 1.10 บาทต่อลิตร อ้างอิงจากราคาน้ำมันของ ปตท.

ราคาน้ำมันในประเทศยังมีโอกาสขยับเพิ่มได้อีกไปจนถึงลิตรละ 3 บาท หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับเพิ่มขึ้นไปจนถึง 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล จากที่ปัจจุบันอยู่ประมาณ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล

ขาใหญ่อย่าง นางสุจินดา เชิดชัย หรือ "เจ๊เกียว" นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร ออกโรงขอขยับค่าโดยสารตามต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น 10 สตางค์ต่อกิโลเมตร ถ้าไม่ลด อาจต้องเจอลดเที่ยววิ่ง

บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด ผู้ให้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบก็รอดูท่าทีอาจขอปรับ 1 บาท ขณะที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ปรับขึ้นราคาค่าขนส่งทั่วประเทศแล้ว 5% และอาจปรับเพิ่มหากราคาสูงกว่าลิตรละ 30 บาท

ด้านกระทรวงคมนาคมก็พยายามจะยื้อให้รอ จนกว่าการศึกษาโครงสร้างค่าโดยสารใหม่เสร็จสิ้นก่อนช่วงปลาย มิ.ย. ถึง ก.ค. 61

เป็นการซื้อเวลา แต่เอกชนก็อาจต้องปรับก่อน หากราคาน้ำมันยังเพิ่มสูงขึ้นอีก

ล่าสุด บมจ.ปตท. ผู้ค้าแอลพีจีรายใหญ่ ได้ปรับราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนและภาคขนส่งอีก 1.5485 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป

หลังจากราคาแอลพีจีในตลาดโลกปรับจาก 449 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือน เม.ย. 2561 เป็น 563 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือน พ.ค. 2561 เพิ่มขึ้นถึง 114 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่งผลให้ราคาแอลพีจีถังครัวเรือนขนาด 15 กก. ปรับจากถังละ 372 บาท เป็นถังละ 395 บาท เพิ่มขึ้น 23 บาทต่อถังทันที หรืออยู่ที่ถังละ 395 บาท

เมื่อน้ำมันขึ้น แอลพีจีขึ้น มีแนวโน้มที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใช้แอลพีจีเป็นพลังงานผลิตไฟฟ้าถึง 60% ค่าไฟฟ้าจากชีวมวลก็จะปรับเพิ่มด้วย เพราะอ้างอิงอยู่กับราคาน้ำมัน ซึ่งทำให้การคำนวณต้นทุนไฟฟ้าเดือน พ.ย. อาจเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องรอดูการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

เสียงเรียกร้องจากหลายฝ่าย ขอให้รัฐบาลรีบออกมาลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร่งด่วน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) จะประชุมกัน 4 มิ.ย.2561 เพื่อหาแนวทางลดกระทบ

เบื้องต้นคาดว่าจะให้นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันมีเงินสะสมอยู่มากกว่า 3.17 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 3.06 หมื่นล้านบาท และบัญชีแอลพีจีกว่า 1 พันล้านบาท มาประคับประคองไปสักระยะก่อน

โดยตรึงน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรเหมือนที่เคยทำมา เพื่อไม่ให้ภาคขนส่ง รถโดยสารสาธารณะ ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงประชาชนทั่วไปแบกรับภาระมากเกินไป ถ้าเงินไม่เพียงพอ อาจปรับลดภาษีสรรพสามิตลงมาจากที่เก็บจากน้ำมันดีเซลลิตรละ 5.85 บาท

ขณะที่แอลพีจีก็อาจใช้เงินพยุงราคาไปได้อีก 2-3 เดือน

ส่วนแนวทางที่รัฐเสนอให้เอกชนปรับเครื่องยนต์ไปใช้น้ำมันไบโอดีเซล (B20) ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร คงจะทำได้ยาก เพราะไม่อยากจะเกิดปัญหาเหมือนตอนที่นำรถใช้น้ำมันไปใช้ NGV

ยิ่งปล่อยช้า ค่าขนส่งขึ้น ค่าแก๊ส ค่าโดยสารปรับกันระนาว รอเวลาต้นทุนสินค้าขยับตาม กระทบชิ่งประชาชน โดยเฉพาะบรรดารากหญ้า เบี้ยน้อยหอยน้อย 4 ปีที่ผ่านมา อาจด้อยค่าหนักลงไปอีกก็ได้


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment