{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
บมจ. โคลเวอร์ เพาเวอร์’ หรือ CV แถลงวิสัยทัศน์เดินหน้าสร้างความมั่นคงทางธุรกิจ และการเติบโต ด้วยการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน สอดรับนโยบายสร้างความมั่นคงทางพลังงานตามแผน PDP 2018
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CV ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และผู้ให้บริการทางด้านวิศวกรรมการออกแบบครบวงจร เปิดเผยว่า จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (Climate Change) ทำให้ภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรมในหลายประเทศตระหนักถึงปัญหาก๊าซเรือนกระจกของโลก จึงได้นำไปสู่ความร่วมมือด้านการพัฒนาพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานสำหรับอนาคต รวมถึงภาคธุรกิจต้องมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น สะท้อนจากภาพรวมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก ณ สิ้นปี 2562 มีกำลังการผลิตติดตั้งทั่วโลกจำนวน 2,532 กิกะวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังการผลิตติดตั้งใหม่จำนวน 177 กิกะวัตต์ เพิ่มร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และภูมิภาคที่มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนสูงสุดติด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.) ภูมิภาคเอเชียมีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,119 กิกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.2 ของกำลังการผลิตทั่วโลก โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น 95.0 กิกะวัตต์ 2.) ยุโรปมีกำลังการติดตั้ง 573 กิกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.6 ของกำลังการผลิตทั่วโลก โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น 36 กิกะวัตต์ และ 3.) อเมริกาเหนือมีกำลังการติดตั้ง 391 กิกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.4 ของกำลังการผลิตทั่วโลก โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น 22 กิกะวัตต์
ส่วนภาคอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย มีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางการพัฒนาพลังงานทั่วโลก ที่มุ่งเน้นผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐมีนโยบายสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในทุกภาคส่วน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) ครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้มีความมั่นคงในระดับที่เหมาะสม มีการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ส่งเสริมพลังงานทดแทน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำกับดูแลกลไกตลาดพลังงานให้แข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อสนับสนุนขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ทำให้ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2580 จำนวน 77,211 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่จำนวน 56,431 เมกะวัตต์ ซึ่งมีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากเอกชนจำนวน 18,696 เมกะวัตต์ รองรับการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปี 2580
ประธานกรรมการ CV กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP2018) โดยเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวมทั้งหมด 29,411 เมกะวัตต์ภายในปี 2580 ที่ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเติบโต ซึ่งจากแผน PDP และแผน AEDP กำหนดกำลังการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทเพิ่มขึ้น รวมถึงนโยบายด้านราคารับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้ระบบ Feed-in Tariff (FiT) สะท้อนมูลค่าต้นทุนที่แท้จริงของโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงแต่ละประเภท มีระยะเวลารับซื้อตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (อายุสัญญา 20 ปี) ซึ่งตั้งแต่ปี 2567 ประมาณการค่าไฟฟ้าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากแผนเดิมที่ 3.58 บาทต่อหน่วย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน โดยคาดว่ารัฐกำหนดราคารับซื้อเบื้องต้นที่อัตรา 3-5 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม จากแผน PDP และแผน AEDP ทำให้การแข่งขันในธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากมีผู้ประกอบการหลายรายมีการขยายกำลังการผลิต ทั้งจากผู้ประกอบการรายเดิมและการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพด้านการเงินและเทคโนโลยี กลุ่มผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างงานวิศวกรรมออกแบบ จัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และก่อสร้าง (EPC) เนื่องจากมีความชำนาญงานด้านติดตั้งระบบไฟฟ้า กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของแหล่งวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า และจากกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์และเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าวขยายธุรกิจมาลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
ทั้งนี้ จากประสบการณ์พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า รวมถึงมีพื้นฐานความเชี่ยวชาญงานวิศวกรรมออกแบบ และก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (EPC) มากว่า 15 ปี และการที่กลุ่มบริษัทฯ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง การเดินเครื่องจักร และการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า ทำให้มีความเข้าใจในเทคนิคการออกแบบ การเลือกใช้เทคโนโลยี การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการต้นทุนการก่อสร้างและการเดินเครื่องจักร ซึ่งถือเป็นจุดแข็งบริษัทฯ ในการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันได้ในอนาคต
นายเศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CV กล่าวว่า บริษัทถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเป็นผู้ให้บริการทางด้านวิศวกรรมการออกแบบครบวงจร ทั้งก่อสร้างโรงไฟฟ้า บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษา บริการจัดหาเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า ตลอดจนลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ โดยแบ่งธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
(1) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า (Power Producer) โดยมุ่งเน้นพัฒนาและกระจายการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีจากพลังงานหมุนเวียนหลากหลายประเภท โดยมีโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 4 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 26.2 เมกะวัตต์ (ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายตามสัดส่วนการถือหุ้น 16.69 เมกะวัตต์) แบ่งเป็น โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 3 โครงการดำเนินการภายใต้ CV CPL และ RTB และโครงการโรงไฟฟ้าขยะ จำนวน 1 โครงการ ดำเนินการภายใต้ CPX ได้แก่ 1.1 โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล CV อ.วังชิ้น จ.แพร่ กำลังผลิตติดตั้ง 9.4 เมกะวัตต์ 1.2 โครงการโรงไฟฟ้า CPL อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก กำลังการผลิตติดตั้ง 4.9 เมกะวัตต์ 1.3โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล RTB อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ และ1.4โครงการโรงไฟฟ้าขยะ CPX อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร กำลังการผลิตติดตั้ง 2.0 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัท ยังมีโครงการโรงคัดแยกและแปรรูปขยะมูลฝอย เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 150 ตัน/วัน และโครงการโรงไฟฟ้าแบบพลังงานความร้อนร่วมใช้ก๊าชธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าซื้อกิจการ จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 7.36 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในต่างประเทศ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวมประมาณ 40.0 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง
(2) ธุรกิจด้านงานวิศวกรรม (Valued EPC) มุ่งเน้นให้บริการงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากเชื้อเพลิงชีวมวล ขยะและชีวภาพ และงานโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องด้านพลังงาน และงานโครงการที่เกี่ยวเนื่อง ตั้งแต่งานด้านการออกแบบ จัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และก่อสร้าง (Engineering Procurement and Construction: EPC) แบบครบวงจร ให้แก่ โรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทฯ และลูกค้าทั่วไป มากกว่า 14 โครงการ โดยดำเนินกิจการภายใต้ บริษัท ศแบง คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท ศแบง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ที่บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 100
(3) ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Supporting) ให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) ให้แก่ลูกค้าโรงไฟฟ้าทั่วไป พร้อมมุ่งเน้นให้บริการเดินเครื่องและบำรุงโรงไฟฟ้ากลุ่มพลังงานจากพลังงานหมุนเวียน โดยดำเนินกิจการภายใต้ SBE ทั้งนี้ บริษัทฯ มีทีมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการปฎิบัติงานเดินเครื่องและบำรุงรักษาที่พร้อมให้บริการอย่างครบวงจร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CV กล่าวว่า ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมายาวนาน บริษัทฯ พร้อมมุ่งมั่นสู่การเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน ด้วยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ดังต่อไปนี้
(1) สร้างความมั่นคงทางธุรกิจและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนาลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าให้มีกำลังการผลิตติดตั้ง จำนวนรวม 85 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564 และ 180 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 พร้อมพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมโรงไฟฟ้า เพิ่มขีดความสามารถการให้บริการวิศวกรรมแบบ Smart EPC สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ขยายฐานการให้บริการ ทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงใช้กลยุทธ์เข้าร่วมลงทุนและซื้อกิจการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
(2) ด้านประสิทธิภาพบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิง โดยส่งเสริมชุนชนปลูกพืชพลังงาน (Energy Crop) เพื่อบริหารจัดการต้นทุนและสร้างความมั่นคงให้โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล พร้อมพัฒนาโครงการสถานีรวบรวม (Transfer Station) ขยะอุตสาหกรรมประเภทไม่เป็นขยะอันตราย นำมาเป็นเชื้อเพลิง RDF โดยรับขยะตรงจากโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่เขตอุตสาหกรรมหนาแน่น ภายในปี 2565 และขยายการลงทุนธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) รองรับการเติบโตของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในต่างประเทศภายในปี 2566
(3) เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร สร้างความรู้ความสามารถในการแข่งขัน และมีคุณธรรมจริยธรรม เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดการพัฒนาที่ยั่งยืน
และ (4) ด้านการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นำเทคโนโลยีการจัดการผลิตในแต่ละขั้นตอนของ Value Chain ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ พร้อมติดตามและดูแลชุมชน สังคม โดยเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อผลประโยชน์สูงสุดในระยะยาวแก่ผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงประชาสัมพันธ์ด้านมวลชนสัมพันธ์ผ่านช่องสื่อต่าง ๆ และสื่อสังคมออนไลน์
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS