TFM นำร่องโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในฟาร์มกุ้ง

บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM ผสานความร่วมมือกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เดินหน้ายกระดับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำสู่ความยั่งยืน ผ่านโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการเลี้ยงกุ้ง (Shrimp Decarbonization Project) ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในฟาร์มกุ้ง 25-35 เปอร์เซ็นต์ พร้อมส่งเสริมให้เข้าถึงตลาดพรีเมียม หนุนสร้างความยั่งยืนตลอด Value Chain ในทุกมิติ

นายพีระศักดิ์ บุญมีโชติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับไทยยูเนี่ยน ผลักดันโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากกระบวนการเลี้ยงกุ้ง (Shrimp Decarbonization Project) เพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตกุ้งให้ได้ 25-35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ได้จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ได้แก่ 1.) ใช้อาหารกุ้งที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองที่ไม่มีแหล่งที่มาที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและต้องได้รับมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ โดยองค์กร FEFAC หรือ European Feed Manufacturers' Federation 2.) ปูบ่อกุ้งหรือขอบบ่อด้วย PE หรือ Polyethylene ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยง พร้อมใช้เครื่องให้อาหารอัตโนมัติ หรือ Autofeed เพื่อลดปริมาณอาหารส่วนเกิน 3.) ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเฉลี่ยในฟาร์มได้อย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ ในเวลากลางวัน นอกจากนี้ มีข้อกำหนดเพิ่มเติมตามความสมัครใจ คือ การติดตั้งอุปกรณ์ HydroNeo ซึ่งเป็นเทคโนโลยี Smart Farming ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าในฟาร์ม โดยสามารถวัดคุณภาพน้ำได้แบบเรียลไทม์

โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์ คือ 1) ลดต้นทุนอาหารโดยตรง โดยเกษตรกรจะได้รับส่วนลดค่าอาหารกุ้งจาก TFM เมื่อจำหน่ายกุ้งที่ผ่านเกณฑ์คุณภาพตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในฟาร์มกุ้ง (Shrimp Decarbonization Project) ให้กับกลุ่มไทยยูเนี่ยน 2) ประหยัดค่าไฟฟ้าในฟาร์มจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยหากเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ Solar Farm ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับพันธมิตรของกลุ่มไทยยูเนี่ยน เกษตรกรจะไม่ต้องลงทุนเริ่มต้นเองและสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ตั้งแต่เริ่มโครงการ และ 3) เกษตรกรจะได้รับการส่งเสริมให้เข้าสู่ตลาดพรีเมียมที่ต้องการกุ้งจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืนและได้การรับรองมาตรฐานสากล โดยปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 19 ราย ตั้งเป้ายอดขายในช่วงระยะเริ่มต้นของโครงการ 1,500 - 2,000 ตัน

ทั้งนี้ โครงการ Shrimp Decarbonization Project จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายในห่วงโซ่อุตสาหกรรมกุ้ง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่ TFM ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารกุ้งสามารถออกผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับเจตนารมณ์ขององค์กร และตอบสนองกับเทรนด์การบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้ง ยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ ในส่วนของฟาร์มกุ้งนั้นได้รับประโยชน์หลากหลายด้านโดยเฉพาะในส่วนของต้นทุนที่ลดลงทั้งจากส่วนลดค่าอาหารกุ้งและต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้ฟาร์มได้พัฒนาตัวเองไปสู่ระดับสากล ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคปลายทางให้ความสำคัญ และสำหรับไทยยูเนี่ยน ได้ประโยชน์เมื่อมีฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการมากขึ้น และจะมีแหล่งกุ้งที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานความยั่งยืนเพิ่มขึ้น นับเป็นการสอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนขององค์กร ทั้งในมิติของการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์และยกระดับซัพพลายเชนให้ยั่งยืน ตลอดจนสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มคู่ค้าที่เป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกระดับโลกเพื่อให้มีแหล่งสินค้าที่สอดคล้องกับนโยบายความยั่งยืนของแต่ละบริษัทฯ และสุดท้ายคือนำไปสู่ผู้บริโภคปลายทางที่จะมีตัวเลือกในการจับจ่ายสินค้ามากขึ้นเพื่อสะท้อนถึงความตระหนักรู้และความรับผิดชอบต่อโลกอีกด้วย

นอกจากนี้ TFM ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำ ด้วยการเป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำแห่งแรกในเอเชียที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ASC Feed ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากลจาก Aquaculture Stewardship Council (ASC) ที่ครอบคลุมทั้งด้านสิทธิแรงงาน การจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมระบบตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใสและเชื่อถือได้ โดยตามข้อกำหนดล่าสุดของ ASC ฟาร์มที่ต้องการการรับรอง ASC จะต้องเริ่มใช้อาหารสัตว์น้ำจากโรงงานที่ได้รับการรับรอง ASC Feed ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2025 เป็นต้นไป ทำให้ TFM อยู่ในตำแหน่งที่พร้อมสนับสนุนลูกค้าในการเข้าสู่มาตรฐานสากล เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดส่งออกและตลาดพรีเมียมทั่วโลก พร้อมสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ของลูกค้าในระยะยาว


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment