SME ไทยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่ยังขาดงบ คนขาดทักษะ ระบบมีความยุ่งยาก

สสว. เผยผลสำรวจการขับเคลื่อน Digital ของ SME ไทย ประจำปี 2568 พบ เริ่มมีการเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ Social Media โปรแกรมบริหารจัดการธุรกิจ ฯลฯ กว่า 80% ใช้ในด้านการให้บริการและการตลาด แต่ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ความยุ่งยากในการใช้งาน และทักษะของบุคลากร ขณะที่ภาครัฐควรมุ่งส่งเสริมโดยเน้นการเพิ่มองค์ความรู้และการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้กับ SME

นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยผลสำรวจการขับเคลื่อน Digital Transformation ในธุรกิจ SME ซึ่งเป็นการสำรวจรายปี สำหรับปี 2568 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 โดยสอบถามผู้ประกอบการ SME จำนวน 2,704 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 20–28 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งผลสำรวจครั้งนี้มีการเปรียบเทียบกับผลสำรวจในประเด็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ SME ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 การสำรวจอ้างอิงตามแนวคิด Digital Maturity Model (DMM) ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อนำข้อมูลผลสำรวจมาใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไปได้ ซึ่งการวัดระดับ Digital Transformation ของผู้ประกอบการถึงระดับ 4.0 นั้น แบ่งการใช้งานดิจิทัลเป็น 5 Pillars โดยภาพรวม พบว่า ผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับ 1.0-2.0 ทั้งการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ Social Media โปรแกรมบริหารจัดการธุรกิจ เป็นต้น

เมื่อพิจารณาผลสำรวจเป็นราย Pilar พบว่า Pillar ที่ 1 การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการติดต่อซัพพลายเออร์หรือผู้ขายวัตถุดิบ/สินค้า พบว่า ยังอยู่ในระดับ 1.0 แต่มีแนวโน้มเป็นระดับ 2.0 เพิ่มขึ้นเนื่องจาก SME มีการเปลี่ยนรูปแบบวิธีการจากการติดต่อผ่านช่องทางโทรศัพท์หรือติดต่อโดยตรงกับผู้ขาย ไปใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการติดต่อหรือสั่งซื้อสินค้า โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม Pillar ที่ 2 ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พบว่า กำลังพัฒนามาอยู่ในระดับ 1.0 SME เริ่มเล็งเห็นถึงการสร้างแบรนด์และเอกลักษณ์ของสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปมาเพื่อช่วยสร้างเอกลักษณ์ของธุรกิจ เช่น การสร้างโลโก้ สติ๊กเกอร์ร้าน โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดย่อม

สำหรับธุรกิจขนาดกลางเริ่มมีการออกแบบด้วยตนเองโดยภาพ 2D/3D Pillar ที่ 3 ด้านการจัดการกระบวนการผลิต พบว่า ยังอยู่ที่ระดับ 1.0 SME ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนร่วมกับการทำงานของเครื่องจักรแบบพื้นฐาน มีการนำเครื่องจักรอัตโนมัติมาใช้ในบางกระบวนการแต่ยังเป็นส่วนน้อย Pillar ที่ 4 ด้านการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า พบว่าอยู่ที่ระดับ 1.0 แต่มีแนวโน้มเป็นระดับ 2.0 เพิ่มขึ้น SME ในทุกขนาดธุรกิจมีการใช้ Social Media ในการติดต่อสื่อสารและรับฟังความต้องการจากลูกค้าเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังเริ่มมีการนำโปรแกรมบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) มาใช้เพิ่มขึ้นเพื่อติดต่องานขายและบริการลูกค้า และ Pillar ที่ 5 ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ พบว่า อยู่ในระดับ 1.0 แต่มีแนวโน้มเป็นระดับ 2.0 เพิ่มขึ้น SME ทุกขนาดธุรกิจยังคงใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน เช่น Microsoft Office มาใช้ในการบริหารจัดการ อีกทั้งมีการนำโปรแกรมเฉพาะ เช่น ระบบ POS มาใช้ในธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยในการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า หากพิจารณาการขับเคลื่อน Digital Transformation

ในภาคธุรกิจในสาขาที่สำคัญ พบว่า ทุกภาคยังอยู่ที่ระดับ 1.0 แต่มีภาคการค้า การผลิต และการบริการ ที่มีแนวโน้มการพัฒนาไปสู่ระดับ 2.0 ได้มากกว่าภาคธุรกิจอื่น สาขาภาคการค้า เช่น การค้าปลีกอุปโภค/บริโภค Modern Trade หรือ การค้าวัสดุก่อสร้าง มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารสต็อก เชื่อมโยงการขายสินค้าทั้งหน้าร้านและการขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สาขาการผลิตสำคัญ เช่น การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม การผลิตโลหะ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การทำการตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น สาขาภาคการบริการ เช่น ร้านอาหาร/ภัตตาคาร โรงแรม/เกสต์เฮาส์/บังกะโล จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้บริการลูกค้า ทั้งใช้ AI Chatbot ช่วยตอบคำถามจากลูกค้าและวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เป็นต้น

จากผลสำรวจได้ระบุถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ SME ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พบว่า SME ร้อยละ 81 ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการให้บริการและการตลาด เช่น การทำช่องทางการชำระเงินและธุรกรรมดิจิทัล รองลงมาคือด้านการใช้ AI คิดเป็นร้อยละ 11 โดยการนำ Chatbot มาใช้สื่อสารกับลูกค้า และร้อยละ 8 นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต เช่น การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ ระบบ ERP เป็นต้น สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้เทคโนโลยีมากที่สุด คือ ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป คิดเป็นร้อยละ 38 รองลงมา คือ การแข่งขันที่สูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 29 ถัดมา คือ ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน/ลดต้นทุน คิดเป็นร้อยละ 23 อย่างไรก็ตาม SME ทุกขนาดธุรกิจมักประสบกับอุปสรรคในเรื่องงบประมาณที่จำกัดในการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพราะส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมที่มาจากต่างประเทศ รองลงมา คือ ความยากลำบากในการประเมินผลลัพธ์หรือประโยชน์ที่ได้รับหลังจากใช้งานเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการขาดบุคลากร/แรงงานที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี

ดังนั้น ภาครัฐควรให้ความสำคัญและเพิ่มระดับความเข้มข้นในการพัฒนา และส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมองว่าการช่วยเหลือในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมและไม่สามารถนำไปต่อยอดได้จริง

ทั้งนี้ การสนับสนุนให้ SME เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น หรือขับเคลื่อน Digital Transformation ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ควรมุ่งเน้นในการเพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มองค์ความรู้ต่าง ๆ หรือการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจไปสู่ตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ในส่วนของ สสว. พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ในทุกขนาดธุรกิจที่ต้องการขับเคลื่อน Digital Transformation ให้เกิดขึ้นในธุรกิจของตนเอง โดย SME สามารถค้นหาโค้ชหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่คอยให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการที่ต้องการความช่วยเหลือ ผ่าน https://coach.sme.go.th/ หรือโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ที่มีบริการต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการและธุรกิจ เช่น การฝึกอบรมบุคลากร ระบบการจัดการคลังสินค้า บริการการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น หรือสอบถามรายละเอียดหรือข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร ซึ่งตั้งอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่ สสว. Call Center โทร. 1301


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment