ผู้เลี้ยงหมูเสนอรัฐนำเข้าส่วนขาดข้าวโพด กากถั่วเหลือง แทนนำเข้าหมูจากสหรัฐแก้เกินดุล

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อมตัวแทนผู้เลี้ยงรวมตัวยื่นนายกฯ และ 3 รัฐมนตรี แก้ปัญหาการกดดันทางการค้าจากสหรัฐฯ โดยให้หันมานำเข้าข้าวโพด กากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ในระดับตัวเลขที่มีนัยยะสำคัญ หวังสหรัฐฯ ผ่อนคลายภาษีนำเข้าต่างตอบแทนกลับมาในอัตราระดับเดิม หวังทุกกลุ่มไม่เสียหาย

นายสิทธพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้ผู้เลี้ยงมารวมตัวเพื่อให้รัฐบาลทำงานง่ายขึ้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรั้มป์ ใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลของสหรัฐฯ หวังลดการขาดดุลทางการค้ากับนานาประเทศ แค่เราหันมาซื้อสินค้าเขามากขึ้น การใช้มาตรการทางภาษีศุลกากร ก็น่าจะปรับมาในอัตราปกติได้ กลุ่มการเลี้ยงสุกรและปศุสัตว์ไทยเติบโตเร็วจนการผลิตพืชอาหารสัตว์ในประเทศตามไม่ทัน แค่เราเปลี่ยนแหล่งกำเนิดพืชอาหารสัตว์มาซื้อจากสหรัฐฯ มากขึ้น การเจรจาของรัฐบาลไทยก็จะง่ายยิ่งขึ้น

สมาคมฯ ได้ศึกษาข้อกฎหมายในการประกาศดังกล่าว ที่เป็นการเร่งแก้ปัญหาการขาดดุลทางการค้าของประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งข้อเสนอในการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี กากถั่วเหลือง และ DDGS เพิ่มในลักษณะเปลี่ยนถิ่นกำเนิดของการนำเข้าเป็นสหรัฐอเมริกา ที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางการค้าให้กับสหรัฐฯ ในการส่งสินค้ามายังประเทศไทยได้เป็นจำนวนถึง 84,000 ล้านบาท หรือ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ตามข้อเสนอของสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ ฉบับลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568

นายสิทธิพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการแก้ปัญหาดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่สร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมใดๆ ในประเทศ โดยประเภทสินค้าที่สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้นำเสนอจะไม่เป็นการสร้างผลกระทบให้กับเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืช เพราะเป็นการนำเข้าในจำนวนที่ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศเท่านั้น

การยื่นข้อเสนอของสมาคมฯ มีแนวทางแก้ปัญหาการเกินดุลกับสหรัฐฯ ตามแนวทางเดียวกับสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ โดยขอให้รัฐบาลละเว้นการพิจารณาที่จะนำเข้าสินค้าสุกร ทั้งเนื้อสุกรและเครื่องในเข้ามายังประเทศไทย ที่จะสร้างปัญหาให้กับผู้เลี้ยงสุกรของไทย หลังจากเผชิญปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในช่วงปี 2563-2565 และปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าสุกร อย่างมากในช่วงปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็น 2 วิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมสุกรไทย

สินค้าสุกรของประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมอาหารโปรตีนหลักของประเทศ ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ตั้งแต่รองรับพืชผลทางการเกษตรวัตถุดิบอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์สุกร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างมากมาย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อปีทั้งระบบกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี นายสิทธิพันธ์ ให้ข้อมูลที่สำคัญต่อการตัดสินใจของรัฐบาลปิดท้าย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment