จะนำเข้าเนื้อหมูอเมริกา พิจารณารอบด้านก่อนดีไหม?

นักวิชาการแนะ ก่อนเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกาควรพิจารณารอบด้าน ถึงผลกระทบระยาว ทั้งด้านความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยของสุขภาพของคนไทย ย้ำประเทศไทยมีการเลี้ยงและการผลิตสุกรที่ดีตามมาตรฐานสากล ปลอดภัย ตลอดห่วงโซ่การผลิต

ผศ.ดร.น.สพ.ดุสิต เลาหสินณรงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ออกมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า และประเทศไทยอาจมีการเจรจานำเข้าเนื้อหมู และเครื่องในหมูจากสหรัฐฯ เพื่อต่อรองลดดุลการค้านั้น ขอแนะนำว่าก่อนการเจรจาอยากให้พิจารณาให้รอบด้านถึงผลกระทบในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพของคนไทย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า การเลี้ยงหมูในสหรัฐฯ อนุญาตให้มีการใช้ สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งส่งผลถึงผู้บริโภคโดยตรง อีกทั้งกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร กระทบต่ออาชีพเกษตรกรของไทย มิเช่นนั้นในระยะยาวอาจทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาการผลิตอาหารจากต่างชาติ ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีในอนาคต

สารเร่งเนื้อแดง คือ ยารักษาโรคสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด มีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดลมให้ผู้ป่วยสามารถหายใจคล่องขึ้น อยู่ในกลุ่มเบตาอะโกนิสท์ (Beta-Agonist) เช่น ซัลบูทามอล (Salbutamol) เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol) มาเพนเทอรอล (Mapenterol) หรือแรคโตพามีน (Ractopamine) ซึ่งจากผลข้างเคียงของยาดังกล่าว ผู้เลี้ยงหมูจึงนำยากลุ่มนี้มาผสมในอาหารสัตว์ หรือ นำไปฉีดในหมู เพราะหมูที่ได้รับยาจะตื่นตัวและเคลื่อนไหวตลอดเวลา กล้ามเนื้อทำงานมากขึ้น ทำให้สัดส่วนไขมันของหมูบางลง สัดส่วนเนื้อแดงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ผู้ที่บริโภคเนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจะได้รับยาที่ตกค้างอยู่ในกล้ามเนื้อหมู หลังการรับประทานยาจะออกฤทธิ์ทันที โดยมีอาการ หายใจเร็วขึ้น ใจสั่น กล้ามเนื้อสั่น สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ กลุ่มคนที่เป็นโรคหัวใจ มีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ หากได้รับยานี้ จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูง และคนที่เป็นโรคเบาหวาน ยานี้จะไปบดบังอาการของโรคทำให้ผู้ที่เป็นเบาหวานไม่รู้ตัวและวูบได้

ผศ.ดร.น.สพ.ดุสิต ย้ำว่า "สารเร่งเนื้อแดง ไม่สลายตัวจากความร้อน ดังนั้นกระบวนการปรุงอาหารไม่สามารถช่วยกำจัดสารนี้ได้ แม้ผ่านกระบวนการปรุงอาหารแล้ว สารนี้ยังคงตกค้างอยู่"

การนำยาดังกล่าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างกล้ามเนื้อในหมู หรือเร่งให้มีเนื้อแดงมากขึ้น ถือเป็นการปรับเปลี่ยนขั้นตอนกระบวนการการผลิต ในขณะที่ประเทศไทยมีมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงและการผลิตสุกรได้มาตรฐานสากล มีการพัฒนาคุณภาพของเนื้อหมูและประสิทธิภาพการผลิตตามมาตรฐานตลอดห่วงโซ่มาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการบริหารจัดการป้องกันโรคและการเลี้ยงสุกรที่เหมาะสม (Good Agricultural Practices; GAP) การจัดการให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ตลอดจนการปฏิบัติตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงการนำเทคโนโลยีทั้งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และหุ่นยนต์ มาใช้ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์และขบวนการแปรรูป เพื่อให้เนื้อหมูมีคุณภาพดีและปลอดภัยต่อผู้บริโภค


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment