เงินเฟ้อเดือนมี.ค. 2568 ชะลอลงที่ 0.84%YoY คาดเงินเฟ้อไทยปี 2568 ลดลงสู่ 0.5% ตามทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนมี.ค.2568 ชะลอลงที่ 0.84%YoY เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลง 0.86%YoY เนื่องจาก · ราคาพลังงานในประเทศปรับลดลงจากเดือนมี.ค.2567 โดยค่าไฟฟ้าปรับลดลง 0.03 บาทต่อหน่วย และรัฐบาลยังคงต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบางไปจนถึงเดือนเม.ย.2568 ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาก๊าซหุงต้มไม่เปลี่ยนแปลง

· ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับลดลง อาทิ ไข่ไก่ และผักสด เนื่องจากปัจจัยฐานของช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ปี 2568 ราคาสินค้าปรับลดลงจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น

o ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเงินเฟ้อไทยในปี 2568 อยู่ที่ 0.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 0.7% โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงสู่ระดับต่ำกว่า 1% ในไตรมาส 2-4 ของปีนี้ (รูปที่ 1)

· ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กระทบต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตและการจ้างงานในประเทศให้ชะลอลง กดดันการใช้จ่ายสินค้าในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation)

· รัฐบาลมีแนวโน้มปรับลดราคาพลังงานในประเทศเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาค่าครองชีพ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวที่ระดับ 70 ดอลลาร์ฯ/ บาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของปีก่อนหน้า ท่ามกลางอุปสงค์โลกที่อ่อนแรงลง แม้อาจยังเผชิญความผันผวนจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์

· สินค้าจีนราคาถูกมีแนวโน้มเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดในประเทศมากขึ้นหลังสงครามการค้ายกระดับขึ้น ซึ่งจะกดดันราคาสินค้าในหลายหมวดหมู่ให้ปรับลดลง อาทิ ผักและผลไม้ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเบ็ดเตล็ด เป็นต้น

· ปัจจัยหนุนจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาน้อยกว่าคาด ภายใต้การแข่งขันในการดึงนักท่องเที่ยวของชาติต่างๆ ที่สูงขึ้น เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว

รูปที่ 1: เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี 2568

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ และประมาณการโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ปริชญา ฤทธิ์สุข

เจ้าหน้าที่วิจัย

palitchaya.r@kasikornresearch.com


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment