คมนาคมของบกลางปี 68 ศึกษาเชื่อมเส้นทางหาดใหญ่-มาเลเซีย กระตุ้นการลงทุนและการค้าชายแดน

"สุริยะ" เปิดแผนพัฒนาคมนาคมเชื่อมหาดใหญ่ - มาเลเซีย ทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ เตรียมของบกลาง ปี 2568 ศึกษารถไฟทางคู่ ชุมทางหาดใหญ่ -สุไหงโก-ลก หวังกระตุ้นการลงทุนและการค้าชายแดน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมใน จ.สงขลา ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุมท่าอากาศยานหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

โดยการประชุมร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่เดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้มีประสิทธิภาพเชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยทางถนน และลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้

ทั้งนี้ จากการที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีกำหนดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม. สัญจร) ณ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 17 - 18 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่ง จ.สงขลา โดยเฉพาะหาดใหญ่เป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีการหมุนเวียนของเม็ดเงินจากการค้า การลงทุน และกระทรวงคมนาคม มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งสำคัญ ๆ หลายโครงการทั้งในพื้นที่ และการเชื่อมต่อการเดินทาง ขนส่งสินค้ากับมาเลเซีย เมื่อโครงการเหล่านี้ก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยผลักดันให้ภาคใต้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เร่งก่อสร้างโครงข่ายรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งทางรางรองรับการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพและสนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า สอดคล้องตามนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่ต้องการลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และสามารถประหยัดการใช้พลังงานของประเทศ สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ในพื้นที่ภาคใต้ มี 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงชุมพร - สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 30,422 ล้านบาท ช่วงสุราษฎร์ธานี – หาดใหญ่ - สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 66,270 ล้านบาท ช่วงหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,772 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนเตรียมนำเสนอ ครม. อนุมัติโครงการ นอกจากนี้ รฟท. เตรียมขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง เพื่อดําเนินงานศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางชุมทางหาดใหญ่ - สุไหงโก-ลก ระยะทาง 216 กม. เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย - มาเลเชีย การค้าชายแดน การท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีแผนเปิดให้บริการในปี 2577

สำหรับโครงการทางถนนมีแผนก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สาย อ.หาดใหญ่ - ชายแดนไทย-มาเลเซีย (มอเตอร์เวย์ M84) เชื่อมต่อเมืองหาดใหญ่ กับด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่ 2 วงเงิน 40,787 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อขออนุมัติโครงการ โดยมีแผนก่อสร้างในปี 2570 - 2573

โครงการแก้ไขปัญหาจราจร ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ดานตะวันออก) ทล.425 ตอน บ.พรุ - ทางเข้าสนามบินหาดใหญ่ กม. 24+148.450 - 31+331.426 ด้านซ้ายทาง ผลงาน 23.973% และ กม.24+148.450 - 31+331.426 ด้านขวาทาง ผลงาน 0.511% และมีแผนขอรับงบประมาณในปี 2569 สำหรับด้านตะวันออก กม.0+000 - 24+151 ระยะทาง 24.15 กม. วงเงิน 9,380 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอขอพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และด้านตะวันตก กม.31+331 - กม.65+530 ระยะทาง 34.20 กม. วงเงิน 9,500 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมรายงาน EIA เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.)

สำหรับโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา - อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง มีจุดเริ่มต้นโครงการที่ แยกออกจากถนนทางหลวงชนบท พท.4004 ประมาณ กม. 3+300 บริเวณบ้านแหลมจองถนน ต. จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง และสิ้นสุดโครงการที่ถนน อบจ. สงขลา (ถนนรอบเกาะใหญ่) บ้านแหลมยาง ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ระยะทาง 7 กม. วงเงิน 4,825.423 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างนำเสนอ ครม. เพื่อเห็นชอบแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดี ทะเลสาบสงขลา ก่อนที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะเจรจาเงินกู้กับธนาคารโลก ทั้งนี้ มีแผนก่อสร้างปลายปี 2568 - 2571

ด้านการเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานหาดใหญ่ ที่ปัจจุบันมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 2.5 ล้านคนต่อปี รองรับเที่ยวบิน 12 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ทั้งนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) มีแผนเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานระยะสั้น (1 - 2 ปี) โดยปรับปรุงอาคารผู้โดยสารชั้น 2 และปรับปรุงถนนระบบภายใน และแผนระยะกลาง (3 - 5 ปี) ก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสารและปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร ก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาความคุ้มค่าการลงทุน) สำหรับแผนระยะยาว ทอท. มีการจัดทำแผนแม่บทเพื่อให้ท่าอากาศยานหาดใหญ่สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 10.5 ล้านคนต่อปี และรองรับปริมาณเที่ยวบินได้ 21 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ประกอบด้วย การก่อสร้างทางขับขนาน และขยายลานจอดอากาศยาน การขยายและปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร การก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์และคลังสินค้า การปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์ และระบบสาธารณูปโภค โดยมีวงเงินจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บท จำนวน 19.995 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ ปี 2568 - 2569

นอกจากนี้ ได้ติดตามโครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่สำคัญ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา ปัตตานี นราธิวาส) ระหว่างปี 2566 -2569 มีปริมาณวัสดุขุดลอก 18.724 ลบ.ม. วงเงินงบประมาณ 1,833.664 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายสุริยะ ได้สั่งการให้หน่วยงานขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการ โดยให้กรมทางหลวง กำกับดูแลการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด สำหรับโครงการที่มีความล่าช้าในการดำเนินงาน เช่น ติดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ให้เร่งดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามแผนโดยเร็ว ทางด้านกรมทางหลวงชนบท ให้กำกับดูแลการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด

สำหรับโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เมื่อ ครม. เห็นชอบแผนอนุรักษ์โลมาอิระวดีแล้ว ให้ประสานการดำเนินงานร่วมกับ สบน. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาและเริ่มก่อสร้างได้ตามแผนในปี 2568 สำหรับ รฟท. ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เร่งจัดทำข้อมูลตามข้อเสนอแนะของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นประกอบการประมวลเรื่องนำเสนอ ครม. ตามขั้นตอนโดยเร็ว และให้เตรียมความพร้อมสำหรับงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและการจัดทำเอกสารประกวดราคางานก่อสร้าง เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันที เมื่อ ครม. มีมติอนุมัติโครงการ ด้านกรมเจ้าท่าให้ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำสำคัญให้เป็นไปตามที่ออกแบบไว้ โดยเฉพาะร่องน้ำสงขลา (ร่องนอก) ให้มีความลึก 9 เมตร จากระดับน้ำลงต่ำสุด ตามมติ ครม. ภายในปี 2570 เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าชายฝั่ง

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ ทอท. ดำเนินการทบทวนแผนแม่บทท่าอากาศยานหาดใหญ่ให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด เพื่อให้ท่าอากาศยานหาดใหญ่สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้อย่างต่อเนื่อง มีความปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว ได้มาตรฐานสากล และเป็นศูนย์กลางการบินในท้องถิ่น

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานดำเนินการตามมาตรการลดมลพิษทางอากาศ และรับมือฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 และได้มอบนโยบายสำหรับการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานและเปิดให้บริการตามเวลาที่กำหนด สำหรับการก่อสร้างโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการให้บริการและมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่สามารถทำได้ทันทีและใช้งบประมาณไม่สูง ด้านการลงทุนและก่อสร้างโครงการที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง และการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนแม่บท ซึ่งมีขั้นตอนในช่วงเตรียมการตามระเบียบหลายขั้นตอนให้สามารถเริ่มก่อสร้างได้ เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment