ตั้งPOOLประกันแท็กซี่

คปภ. - สมาคมประกันวินาศภัยไทย ผนึก 8 บริษัทประกันภัย ตั้ง “Pool” รับประกันภัยโดยเฉพาะ

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ร่วมกับ สมาคมประกันวินาศภัยไทย นำ 8 บริษัทสมาชิกผู้รับประกันภัยรถยนต์รับจ้างสาธารณะ (รถแท็กซี่) ร่วมลงนามใน “สัญญาการเข้าร่วมรับประกันภัย โครงการประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะ (รถแท็กซี่)” เพื่อจัดตั้งกองกลาง (Pool) สำหรับการประกันภัยรถแท็กซี่ โดยใช้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ประเภท 3 กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยราคาเดียว 12,500 บาทต่อคัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการรถแท็กซี่ สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ และเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของธุรกิจประกันภัย

ซึ่ง จากข้อมูลการรับประกันภัยรถแท็กซี่ ในปี 2561 ปรากฏว่า มีจำนวนรถแท็กซี่จดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกรวม 83,960 คัน แต่มีประกันภัยรถยนต์เพียง 63,536 คัน คิดเป็น 75% ของรถที่จดทะเบียน ดังนั้น หากรถแท็กซี่ทุกคันมีประกันภัยครบถ้วนแล้ว จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ ผู้ขับขี่ และผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ได้ หรือหากมีผู้ประสบภัยก็จะได้รับ ความคุ้มครองทั้งจากประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และประกันภัยภาคสมัครใจอย่างครบถ้วน และจากการศึกษาข้อมูลต้นทุนในการรับประกันภัยรถแท็กซี่ยังพบว่า มีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสูงถึง 92% ซึ่งสูงกว่ารถยนต์ทั่วไปถึง 3 เท่า ส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยขาดทุนจากการรับประกันภัยรถแท็กซี่ ประกอบกับเบี้ยประกันภัยที่บริษัทใช้รับประกันภัยนั้นไม่สอดคล้องต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้น จึงทำให้บริษัทประกันภัยหลีกเลี่ยงที่จะรับประกันภัยรถดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ ประสบกับปัญหาในการทำประกันภัย

ดังนั้นจึงเห็นควรให้มีการจัดตั้งกองกลางฯ (Pool) สำหรับการประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะ (รถแท็กซี่) โดยมีบริษัทสมาชิกเข้าร่วมรับประกันภัย ผ่าน Pool ดังกล่าว จำนวน 8 บริษัท ได้แก่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) และมีบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมรับประกันภัยต่อ โดยได้มอบหมายให้บริษัทไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารกองกลางฯ ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันภัยสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและมีข้อมูลในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม คาดว่าจะสามารถลดปัญหาหรือผลกระทบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย กล่าวด้วยว่า การที่สำนักงาน คปภ.และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้จัดทำโครงการประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะ (รถแท็กซี่) โดยจัดตั้งเป็นกองกลาง “Pool” ขึ้น จึงทำให้ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของรถ สามารถทำประกันภัยได้ เนื่องจากมีบริษัทเข้ามารับประกันภัย มีอัตราเบี้ยประกันภัยและความคุ้มครองที่ชัดเจน ทำให้เกิดความมั่นใจว่า จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นได้ รวมถึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการและใช้ระบประกันภัยเข้ามารองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างดียิ่ง

ด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา คปภ. ได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับประเด็นปัญหา การรับประกันภัยรถแท็กซี่ระหว่างภาคธุรกิจประกันภัยกับผู้ประกอบการสหกรณ์แท็กซี่ เนื่องจากบริษัทประกันภัยปฏิเสธการรับประกันภัยและบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรถดังกล่าว ส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ประกอบการและภาพลักษณ์โดยรวมของธุรกิจประกันภัย ดังนั้น เมื่อช่วงปลายปี 2562 สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดประชุมหารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย บริษัทสมาชิกผู้รับประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะ (รถแท็กซี่) และกลุ่มเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานครเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการรับประกันภัยให้มีรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน ภายใต้อัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการรถแท็กซี่ ในการจัดหาผู้รับประกันภัยรถยนต์ตามที่กฎหมายกำหนดให้รถยนต์รับจ้างสาธารณะต้องมีประกันภัย ซึ่งจากการประชุมหารือดังกล่าวได้กำหนดแนวทางในการรับประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะ (รถแท็กซี่) ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

ทั้งนี้ จากการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย และผู้ประกอบการสหกรณ์แท็กซี่ จึงได้ข้อสรุปร่วมกันว่า กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะ (รถแท็กซี่) จะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ประเภท 3 เพื่อรับประกันภัยรถแท็กซี่ โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ความเสียหายต่อชีวิตร่างกายหรืออนามัย 500,000 บาทต่อคน (เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ.) ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอกสูงสุด 400,000 บาทต่อครั้ง ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้าย ไม่เกินคนละ 50,000 บาท และค่ารักษาพยาบาล ไม่เกินคนละ 50,000 บาท สำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวม 5 คน รวมทั้งการประกันตัวผู้ขับขี่ 500,000 บาทต่อครั้ง โดยมีอัตราเบี้ยประกันภัย 12,500 บาทต่อคัน (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งอัตราเบี้ยประกันภัยดังกล่าว ยังไม่รวมค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)

สำหรับรูปแบบการรับประกันภัยรถแท็กซี่จะทำในลักษณะโครงการประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะซึ่งจะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างภาคธุรกิจประกันภัยกับผู้ประกอบการสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร และในขณะเดียวกันโครงการฯ นี้จะเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการรถแท็กซี่ ในการบรรเทาความสูญเสีย และสร้างความอุ่นใจในชีวิตและทรัพย์สินให้กับผู้ขับขี่รถแท็กซี่ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ภาคธุรกิจประกันภัยได้รับข้อมูลสำหรับการนำไปใช้ในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยในอนาคตให้เป็นไปตามระดับความเสี่ยงภัยที่แท้จริง รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจประกันภัย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment