ค่าเงินบาทเปิดเช้า 23 กันยายน 2567 ที่ระดับ 32.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 23 กันยายน 2567 ที่ระดับ 32.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.06 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น จนทะลุโซนแนวรับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ได้สำเร็จ (แกว่งตัวในกรอบ 32.90-33.15 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All-Time High) ได้ โดยราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรงอยู่ ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดต่างคงคาดหวังว่าเฟดจะสามารถเร่งลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นทะลุแนวรับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมิน ตามการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด แรงซื้อสินทรัพย์ไทยและโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และ ECB พร้อมรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของบรรดาเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Global Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนกันยายน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนสิงหาคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ได้ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน

ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Expectations) และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของอังกฤษด้วยเช่นกัน เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)

ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ อัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว รวมถึงรอลุ้นผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค Liberal Democratic Party (LDP) คนใหม่ ซึ่งจะกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นด้วย ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.35% จนกว่าจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2%-3% ได้สำเร็จ

ฝั่งไทย – ควรรอลุ้นรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) เดือนสิงหาคม และจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังดัชนี SET เริ่มมีความเสี่ยงอาจย่อตัวลงได้บ้างในระยะสั้น อนึ่ง เงินบาทได้แข็งค่าหลุดโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามที่เรากังวลไว้ในสัปดาห์ก่อน เปิดโอกาสให้เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นต่อทดสอบโซน 32.50-32.75 บาทต่อดอลลาร์ แต่เราคงมุมมองเดิมว่า ในเชิง Valuation การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าโซน 33 บาทต่อดอลลาร์นั้น ถือว่า เป็นระดับที่ Slightly Overvalued (Z-Score ของดัชนีค่าเงินบาท REER เกินระดับ +0.5) ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการอย่างฝั่งผู้นำเข้าควรเตรียมพร้อมปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทนั้นยังมีอยู่ แต่เราเริ่มเห็นโอกาสที่เงินบาทอาจชะลอการแข็งค่าขึ้น หากเงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นจริง รวมถึงนักลงทุนต่างชาติก็เริ่มทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย ส่วนราคาทองคำก็อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง หากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางไม่ได้ร้อนแรงขึ้นชัดเจน อีกทั้ง ในเชิง valuation เงินบาทเริ่มเข้าสู่โซน Slightly Overvalued

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจรีบาวด์ขึ้นบ้าง หากรายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าข้อมูลจากประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ หรือ ในกรณีที่บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างประเมินภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้เลวร้ายนัก พร้อมย้ำจุดยืนทยอยลดดอกเบี้ยในลักษณะที่ใกล้เคียงหรือสอดคล้องกับคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายล่าสุด (Dot Plot) โดยเน้นประเมินสถานการณ์แต่ละการประชุม (Data Dependent) ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เหมาะสม

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.60-33.30 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-33.00 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก)

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment