ธ.พาณิชย์ผู้กุมชะตาการเงินตัวจริง แบงก์ชาติแค่ดูแล-ดอกขึ้นลงประชาชีหนีไม่พ้น

หลังจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการขยับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน ทำให้เกิดความกังวลถึงอนาคตของอัตราดอกเบี้ยเมืองไทยจะขึ้นไปถึงไหน

นักวิเคราะห์ สถาบันการเงิน หรือแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่างส่งซิกแล้วว่า ดอกเบี้ยจากนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะปัจจัยหนุนหลายด้าน แม้คณะกรรมการนนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (อาร์พี) เอาไว้ที่ร้อยละ 1.5 แต่ต่อไปนี้จะขึ้นอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าช้าหรือเร็ว

แต่เมื่อดอกเบี้ยขึ้น คนที่รับผลกระทบก็คือ ผู้ที่ต้องไปกู้เงินจากสถาบันการเงิน แม้กระทั่งผู้ที่ฝากเงิน เพราะธนาคารส่วนใหญ่จะปรับดอกเงินกู้ขึ้นรอก่อน ส่วนดอกเงินฝากค่อยขึ้นตามทีหลัง

แบงก์ชาติที่มีหน้าที่คอยกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างธนาคาร ก็ทำได้แค่เพียงกำกับดูแล ไม่สามารถบีบบังคับให้แบงก์ขึ้นดอกเงินฝากก่อนเงินกู้ได้ ตามข้ออ้างภายใต้กรอบการแข่งขันเสรี

ยิ่งในช่วงนี้ถือว่าสภาพคล่องของแบงก์ถือว่าล้น ยังมีเงินเหลืออยู่มาก สวนทางกับการปล่อยสินเชื่อที่มีพิจารณาเข้มงวด โดยเฉพาะกับประชาชนรายเล็กๆ หรือผู้ประกอบการที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก และต้องการเงินเพื่อดำเนินธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยจะขึ้น ก็คงเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ เป็นไปตามสภาวะตลาด โดยเฉพาะการจะไปบีบบังคับแบงก์ไม่ให้ขึ้นดอกเบี้ย ก็ยิ่งยาก เพราะแบงก์ทำธุรกิจ

การทำธุรกิจตามวิสัยพ่อค้า ก็คือ การทำกำไรสูงสุดเท่าที่จะสามารถทำได้

หากไปดูผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ จะเห็นว่าที่ผ่านมา ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดี ไม่ดี ก็ยังมีกำไรในอัตราที่สูง ซึ่งอาจเป็นเพียงธุรกิจประเภทเดียวที่ทำกำไรได้ในทุกสภาพเศรษฐกิจ (ยกเว้นช่วงปีที่เกิดวิกฤตค่าเงินบาทและสถาบันการเงินของไทย)

ทั้งๆที่ธนาคารในประเทศไทย ก็มีอยู่มากพอสมควร น่าจะมีการแข่งขัน โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย แต่ดูเหมือนว่าความแตกต่างแทบจะไม่เกิด

อาจเป็นเพราะความต้องการเงินจากกลุ่มคนระดับล่าง กลาง หรือผู้ประกอบการรายเล็กๆ ยังต้องงอนง้อ ขอกู้เงินเพื่อไปดำรงชีพ ดำรงธุริจ จึงทำให้แบงก์ยังยืนหยัด บนหลังของชาวบ้านได้มายาวนาน

ที่ผ่านมา มีแต่การกล่าวถึงดอกเบี้ยขึ้น ดอกเบี้ยลง แต่ไม่ล้วงลงไปดูช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ (สเปรด) จะพบว่ามีช่องห่างอยู่มากโข ไม่ใช่ 2-3 จุดเหมือนในละคร แต่เป็น 6-8 จุดในความเป็นจริง ทั้งที่สภาพคล่องในแบงก์สูง แต่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมาก ขณะที่ความต้องการเงินในตลาดก็ยังมีอยู่อีกมาก

ถ้าประชาชนหรือผู้ประกอบการมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าคงไม่มุ่งหน้าหาแบงก์ที่ได้เปรียบประชาชนแน่ๆ

เพียงแค่แบงก์ตั้งใจจะช่วยประชาชนอย่างจริงจัง เพียงแค่ลดช่องว่างดังกล่าว ก็จะช่วยลดภาระของลูกค้าได้ แม้ว่าดอกเบี้ยจะขาขึ้นก็ตาม

แค่คิดก็เหนื่อย เป็นเรื่องที่ทำได้ยากเมื่อแบงก์ยังคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด

แบงก์ชาติเอง แม้จะกำหนดเพดานดอกเบี้ยต่ำสุดสูงสุดเอาไว้ ก็บังคับแบงก์ให้ใช้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำสุดไม่ได้

เสมือนธนาคารพาณิชย์เป็นผู้กุมบังเหียนระบบการเงินของไทยอย่างแท้จริง


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment