สำนักวิจัย CIMB Thai ห่วง อย่าให้สงครามค่าเงินเป็นคำตอบ

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า นับเป็นประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจที่น่าติดตาม ระหว่างรัฐบาลที่คาดหวังการลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจกับแบงก์ชาติที่ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ความขัดแย้งด้านทิศทางดอกเบี้ยมีส่วนกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ โดยในช่วงสัปดาห์การประชุมกนง. เงินบาทอ่อนค่าที่สุดในภูมิภาค และโดยเฉพาะหลังตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2566 ขยายตัวต่ำจากปีก่อนหน้า และหดตัวเทียบไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งย้ำถึงแรงกดดันในการลดดอกเบี้ยในวันที่ 10 เมษายนนี้ มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ดอกเบี้ยไม่ใช่ยารักษาทุกโรค หากหวังพึ่งพาดอกเบี้ยนโยบาย การลดดอกเบี้ยเพียง 0.25 หรือ 0.50% ไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องลดลงถึง 1.25% จึงจะมากพอ ซึ่งเป็นการปรับลดในระดับวิกฤติการเงิน และเป็นระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤติโควิด ผลข้างเคียงของการลดดอกเบี้ยเช่นนี้ จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และอาจเป็นการประกาศสงครามค่าเงินกับเพื่อนบ้าน เพราะบาทที่อ่อนจะแย่งชิงความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง และอาจลามเป็นการอ่อนค่าของค่าเงินในภูมิภาคได้ในภายหลัง

“ผมมองว่า หนทางแก้เกมที่ดีที่สุด คือ ประสานนโยบายการเงินและการคลัง ตอนนี้เหมือนเรากำลังดูทีมฟุตบอลที่กองหน้าเขี่ยบอลให้กองหลังวิ่งขึ้นมาทำประตู อาจเพราะมีผู้เล่นบาดเจ็บ (งบประมาณยังไม่ออกจนเดือนพฤษภาคม) แต่กองหลังก็ไม่ขยับมาเล่นกองกลาง ยังเตะบอลให้กองหน้า เพราะห่วงรักษาประตู (เน้นดูแลเสถียรภาพของตลาดเงินและเศรษฐกิจ) คนดูก็เชียร์กันไปคนละข้าง เศรษฐกิจไทยก็ยากที่จะเดินหน้าได้ คงต้องหาทางแก้เกมกันว่าจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อประสานผู้เล่นในทีมนี้” ดร. อมรเทพ กล่าว

ทำไมยังไม่ถึงเวลาลดอัตราดอกเบี้ย

หากพิจารณาถ้อยแถลงและการสื่อสารของคณะกรรมการนโยบายการเงิน จะพบหลากหลายปัจจัยที่บ่งบอกว่าทำไมยังไม่ถึงเวลาลดอัตราดอกเบี้ย ผมลองตีความได้สามปัจจัยดังนี้

1. เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า มาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ได้มาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป

ปัญหาเชิงโครงสร้างมาจากการขาดความเชื่อมโยงของภาคการผลิตไทยในห่วงโซ่อุปทานโลก การส่งออกขยายตัวต่ำแม้อุปสงค์ตลาดโลกกำลังฟื้นตัวได้ดี การขาดความสามารถในการแข่งขันหรือขาดสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ยกตัวอย่าง ไทยเป็นแหล่งผลิต Hard Disk Drive (HDD) แต่โลกกำลังเปลี่ยนไปใช้ Solid State Drive (SSD) หรือ การนำเข้าสินค้าจากจีนทำให้ SME ไทยต้องทยอยปิดกิจการไป ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐก็น้อยและล่าช้า กระทบเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมา

2. อัตราเงินเฟ้อต่ำ ไม่ได้มาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ

อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการภาครัฐ ที่ส่งผลต่อราคาพลังงานในประเทศปรับลดลง แต่เป็นการบรรเทาปัญหาชั่วคราว และไม่ได้มาจากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ (อันนี้ผมเห็นต่าง ผมว่ามีส่วนบ้างที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอทำให้การปรับราคาขึ้นทำได้ยาก) ทางแบงก์ชาติยังย้ำว่าระดับราคาสินค้าและบริการที่ปรับลดลงมาแต่ยังสูงเมื่อเทียบช่วงก่อนโควิด และมองว่าหากอุปสงค์ในประเทศยังดี การใช้นโยบายการเงินมากระตุ้นก็อาจไม่ตรงจุด น่าไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการผลิตและการส่งออกมากกว่า

3. ผลข้างเคียงจากการลดดอกเบี้ยที่เร็วเกินไป

การลดดอกเบี้ยช่วงที่อุปสงค์ในประเทศยังแข็งแรง การบริโภคยังเติบโตได้ อาจส่งผลข้างเคียงให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวขึ้นมารวดเร็วช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ปรับเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย หรือเก็บ policy space ไว้ใช้ยามจำเป็น

ดอกเบี้ยไม่ใช่ยารักษาทุกโรค

ต่อให้ลดดอกเบี้ยลง ก็ทำได้เพียงพยุงเศรษฐกิจ ไม่ได้กระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเหนือ 4% และการลดดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25-0.50% ก็ไม่ช่วยลดรายจ่ายด้านดอกเบี้ยลงอย่างมีนัยะสำคัญ อาจพอลดความตึงเครียดได้บ้าง สร้างแรงจูงใจให้คนมาใช้จ่ายและลงทุนได้มากขึ้น แต่การส่งผ่านของการลดอัตราดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจจริงอาจใช้เวลาถึง 6 เดือน ต่างกับมาตรการทางการคลังที่อัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าคนเพื่อนำไปใช้จ่ายได้ทันที และสามารถดูแลผู้เดือดร้อนได้ตรงกลุ่ม มากกว่านโยบายการเงินที่หว่านแหในวงกว้าง และการลดดอกเบี้ยก็มีผลข้างเคียงที่เปรียบเหมือนยา อาจทำให้เกิดอาการหนี้ครัวเรือนที่เพิ่ม สินทรัพย์ไทยขาดความน่าสนใจจนต่างชาติเทขาย ทำเงินบาทอ่อนค่า กระทบสินค้านำเข้าให้มีราคาสูงขึ้นได้

อย่าให้สงครามค่าเงินเป็นคำตอบ

ผมกังวลว่า ผู้กำหนดนโยบายจะเห็นว่าหนทางที่เร็วที่สุด (quick win) อาจจะเป็นการปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่า ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การลดดอกเบี้ยในระด้บมากพอจะกระตุ้นเศรษฐกิจ กำลังซื้อ การลงทุน และทำให้บาทอ่อนค่าแรงพอจะสร้างความสามารถการแข่งขัน แต่ต้องระวังผลข้างเคียง ต้นทุนนำเข้าเพิ่มสูง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน หรือกลุ่มที่มีสัดส่วนการนำเข้าเพื่อการผลิตสูง เช่น อาหารทะเลกระป๋อง เครื่องจักรอุตสาหกรรม และเครื่องมือแพทย์ แต่ก็พอจะมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อน เช่น กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และกลุ่มส่งออก เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าเกษตรอื่นๆ ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และนิคมอุตสาหกรรม การลดดอกเบี้ยของไทย จะเป็นการประกาศสงครามค่าเงินกับเพื่อนบ้านหรือไม่ และอาจลามเป็นการอ่อนค่าของค่าเงินในภูมิภาคได้ในภายหลัง แม้ไม่ได้รุนแรงเหมือนวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่หากเงินบาทวิ่งไปที่ระดับ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อาจมีคนบางกลุ่มได้รับผลกระทบ

“ผมมองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอและปราศจากมาตรการทางการคลังในการสนับสนุนเช่นนี้ คงต้องอาศัยการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เสริมสภาพคล่อง และกดดันเงินบาทให้อ่อนค่า แต่ก็หวังว่า แบงก์ชาติยังมีหนทางอื่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางการเงินอื่นๆ มาเสริมได้อีก เช่น การลดข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ ลดวงเงิน LTV และยืดระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหา อย่างไรก็ดี มาตรการเหล่านี้ก็ทำได้เพียงประคองเศรษฐกิจให้มีความหวังว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เหนือระดับ 2% แต่จะกระตุ้นให้ถึง 3% ได้หรือไม่ก็คงต้องรอดูมาตรการต่างๆ จากรัฐบาลอีกที” ดร.อมรเทพ กล่าว


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment