โครงการเท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี สะท้อนผลสำเร็จ “เท่ได้..ต้องไม่บูลลี่” สร้างความเข้าใจ ช่วยลดปัญหาการบูลลี่ในรั้วโรงเรียน

แม้สังคมไทยจะเริ่มตระหนักถึงปัญหาการบูลลี่ แต่ยังคงเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง โครงการไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี กิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน เดินหน้าส่งเสริมทักษะเยาวชนไทยในทุกมิติ ให้กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม รวมถึงเข้าใจและยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น โดยได้จัดกิจกรรมการประกวด “เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี” ในหัวข้อ “เท่ได้...ต้องไม่บูลลี่” ประจำปี 2566 และประกาศผลในรอบชิงชนะเลิศเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยนับว่าเป็นการเปิดเวทีสร้างโอกาสให้เยาวชนได้ร่วมกันทำงานเป็นทีม สร้างสรรค์โครงงานเพื่อร่วมรณรงค์ต่อต้านการบูลลี่ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมรางวัลทุนการศึกษา

ทั้งนี้ การประกวดมุ่งเน้นเพื่อให้ทีมที่เข้าประกวดนำโครงงานที่คิดไปปฏิบัติจริงในโรงเรียน และนำผลการทำโครงงานในระยะเวลา 3 เดือนกลับมานำเสนอต่อคณะกรรมการ โดยแบ่งการประกวดเป็นระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดีมีโรงเรียนส่งใบสมัครเข้าร่วมมากกว่า 460 ทีม รวมนักเรียนที่เข้าร่วมจำนวนกว่า 3,000 คน โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับมัธยมต้น ได้แก่ ทีม ก.ท.ก็เท่ได้ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ชื่อโครงงาน การบูลลี่ร้ายแรง...กว่าที่คิด และทีม Illumination of hart โรงเรียนสภาราชินี จ. ตรัง คว้ารางวัลชนะเลิศระดับมัธยมปลาย ด้วยโครงงานชื่อ วันสุดท้าย ก่อน Bye Bully

นางสาวมาริสา จงคงคาวุฒิ หัวหน้ากิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า โครงการเท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันยุคทันสมัยตลอดเวลา ซึ่งปัญหาการบูลลี่ที่กำลังเกิดกับวัยรุ่นถือเป็นหนึ่งปัญหาใหญ่ จึงนำประเด็นนี้มารณรงค์กับเด็ก ๆ ผ่านการจัดประกวดโครงงานในหัวข้อ “เท่ได้...ต้องไม่บูลลี่” เป็นปีแรก เพื่อที่จะช่วยกันกระตุ้นให้ลดการบูลลี่ในโรงเรียน ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมากจากหลายฝ่าย แม้จะเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะเด็ก ๆ เมื่อคิดโครงงานได้แล้วต้องนำไปปฏิบัติจริงด้วย โดยผลลัพธ์ที่ได้น่าพอใจมาก สะท้อนชัดว่าเด็กเข้าใจความหมาย รู้จักรับมือ และหาแนวทางสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เพื่อรณรงค์การลดบูลลี่เพื่อนในโรงเรียน

“เราอยากเห็นกิจกรรมดี ๆ ถูกจุดประกายในทุกโรงเรียน ซึ่งหนึ่งในความน่าสนใจของกิจกรรม คือ การนำไปปฎิบัติจริง ทำให้เด็กได้เห็นปัญหาอุปสรรคและผลตอบรับ และนำมาแชร์กันในวันตัดสินการประกวด เพื่อให้น้อง ๆ ได้รับประสบการณ์จริงและนำไปจุดประกายส่งต่อให้รุ่นน้องได้ โดยมองว่าปัญหาการบูลลี่ยังเป็นประเด็นสำคัญ หากเป็นไปได้เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี ก็อยากจะสานต่อในปีต่อ ๆ ไป เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น และเห็นพัฒนาการในการรณรงค์การหยุดการบูลลี่ในโรงเรียนมากขึ้น และท้ายที่สุดอยากให้การบูลลี่หมดไปจากสังคมไทย” นางสาวมาริสากล่าว


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment