{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2022 ภาคครัวเรือนเผชิญค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นอันเกิดจากค่า Ft ที่สูงขึ้นมาก และประเด็นค่าไฟฟ้าแพงยิ่งถูกกล่าวถึงมากขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ความสนใจในการติดตั้ง Solar rooftop ในครัวเรือนเป็นกระแสมากขึ้น ผนวกกับราคาติดตั้งแผงโซลาร์ในปัจจุบันที่ลดลงมาและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีคำถามอยู่ว่าใครกันคือกลุ่มที่ควรติดตั้ง ค่าไฟระดับไหนที่ติดตั้งได้ จะคืนทุนได้เร็วช้าแค่ไหน แล้วมีปัจจัยบวกลบอะไรบ้างที่จะช่วยเพิ่มสัดส่วนของครัวเรือนที่จะติดตั้ง Solar rooftop ให้มากขึ้น บทความนี้จึงอยากชวนทุกท่านมาตอบคำถามข้างต้นกัน
ค่าไฟฟ้าของครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากสาเหตุอะไร ?
ค่าไฟฟ้าของครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2022 และเร่งตัวขึ้นมากในช่วงท้ายปีต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากทั้งค่า Ft ที่เร่งตัว ท่ามกลางปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในสภาวะที่อากาศร้อนมากขึ้น ทั้งนี้ราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วยของครัวเรือน ประกอบด้วย ราคาค่าไฟฟ้าฐาน (Base Fuel Cost : BFC) + ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) + ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เรามาพิจารณาปัจจัยที่เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมากก่อน คือ ค่า Ft ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่ถูกคำนวนจากค่าต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและค่าซื้อไฟฟ้า รวมไปถึงค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (ทั้งในแง่ของการอุดหนุนในช่วงต้นทุนพลังงานสูง หรือเก็บเพิ่มเพื่อชดเชยเงินอุดหนุนในช่วงต้นทุนพลังงานลดต่ำลง) ทั้งนี้ด้วยโครงสร้างเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของไทยมาจากก๊าซธรรมชาติอยู่สูงกว่า 50% ของพลังงานทุกประเภทที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ทำให้เมื่อราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปี 2021-2022 ย่อมส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าผ่านราคา Pool gas price ซึ่งเป็นราคากลางที่ใช้กำหนดต้นทุนค่าไฟฟ้าในไทย ดังเห็นได้จากรูปที่ 1 ที่เร่งตัวตามราคาในตลาดโลกด้วย (แต่การส่งผ่านมายังราคา Pool gas อาจไม่ Real time โดยมี Lag time อยู่ราวหนึ่งไตรมาส)
รูปที่ 1 : ค่า Ft ของไทยเร่งตัวขึ้นตามต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นตามราคาโลก
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ EPPO, MEA, ERC, Tradingview และ Bloomberg
รูปที่ 2 : อากาศที่ร้อนขึ้น หนุนการใช้ไฟฟ้าต่อครัวเรือนมากขึ้น มีผลต่อค่าไฟฟ้าต่อหน่วยแพงขึ้น
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ World Bank, CEIC, PEA และ MEA
นอกจากนี้ ด้วยโครงสร้างการพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติในตลาด Spot ของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผลกระทบของราคาในตลาดโลกยิ่งมีมากขึ้น ผนวกกับราคาก๊าซธรรมชาติในตลาด Spot ที่อยู่สูงกว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ไทยทำสัญญาหรือราคาก๊าซธรรมชาติที่มาจากแหล่งอ่าวไทยและเมียนมา (ซึ่งราคา Spot แพงกว่าราว 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับแหล่งอ่าวไทยและเมียนมา) ส่งให้ Pool gas price จะอยู่ในระดับสูง นอกเหนือจากค่า Ft ที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วยเพิ่มขึ้นแล้ว ปริมาณการใช้ไฟของแต่ละครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสภาพอากาศที่มีแนวโน้มร้อนขึ้นของไทย (พิจารณาจาก Heat index ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในรูปที่ 2) ทำให้ความต้องการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อบรรเทาความร้อนมีมากขึ้น ผนวกกับการใช้ไฟฟ้าของอุปกรณ์ทำความเย็นก็มีมากขึ้นด้วย เช่น ตู้เย็น เป็นต้น ดังนั้น การใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยของครัวเรือนไทยจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วยเพิ่มขึ้นตาม เนื่องจากค่าไฟฟ้าฐาน (BFC) เป็นอัตราก้าวหน้า กล่าวคือ ยิ่งใช้ไฟมาก ก็ยิ่งจ่ายแพง โดยถ้าใช้ไฟฟ้ามากกว่า 150 หน่วย ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสำหรับหน่วยไฟฟ้าตั้งแต่ 151 หน่วยขึ้นไปจะเพิ่มราว 20-30%
ราคาแผงโซลาร์ที่ถูกลง เพิ่มโอกาสการติดตั้ง Solar rooftop
ท่ามกลางค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นของครัวเรือน ขณะที่ต้นทุนการติดตั้ง Solar rooftop มีแนวโน้มลดลงตามราคาแผงโซลาร์ (ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของ Solar rooftop) ที่ลดลงต่อเนื่อง จะช่วยเพิ่มโอกาสที่ครัวเรือนจะติดตั้ง Solar rooftop มากขึ้น ทั้งนี้ราคาแผงโซลาร์ในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาต่อเนื่อง โดยในปี 2018 ลดลงไปเกือบ 30%YOY และยังลดลงต่อปีละเกือบ 10% ซึ่ง SCB EIC คาดว่าราคาจะยังคงลดลงต่อเนื่องราว 14% ในปี 2023 และลดลงราว 7% ต่อปีในอีก 3 ปีข้างหน้า (รูปที่ 3)
รูปที่ 3 : ราคาของแผงโซลาร์ในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 1/
หมายเหตุ : 1/ สามารถติดตามรายละเอียดการวิเคราะห์ประเด็นแผงโซลาร์ในตลาดโลกของ SCB EIC ได้จาก บทวิเคราะห์ “ราคาพลังงานโลกปี 2023 ท่ามกลางความเปราะบางของ Supply” https://www.scbeic.com/th/detail/product/global-energy-prices-280423
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ BNFF, PV Magazine และ IEA
แผงโซลาร์ในปัจจุบันมีอยู่ 3 ประเภทใหญ่ที่นิยมใช้งาน ได้แก่ Monocrystalline, Polycrystalline และ Thin film solar cell โดยประเภทแผงโซลาร์ที่นิยมติดตั้งในครัวเรือนสำหรับ Solar rooftop ได้แก่ Monocrystalline และ Polycrystalline แม้ว่าราคาของแผงโซลาร์ทั้งสองประเภทจะสูงกว่า Thin film solar cell แต่ราคาที่ปรับตัวลดลงของแผงโซลาร์ ทำให้แผงโซลาร์ทั้งสองประเภทมีราคาที่จับต้องได้มากขึ้น ท่ามกลางประสิทธิภาพต่อพื้นที่สูงกว่า Thin film solar ทำให้ใช้จำนวนแผงโซลาร์และพื้นที่ในการติดตั้งไม่มากต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์ ซึ่งเหมาะสมต่อการติดตั้งบนหลังคาที่มีพื้นที่จำกัด (รายละเอียดตามรูปที่ 4)
รูปที่ 4 : Monocrystalline และ Polycrystalline เป็นแผงโซลาร์ 2 ประเภทที่นิยมติดตั้งในครัวเรือน เนื่องจากใช้พื้นที่ในการติดตั้งน้อย ประสิทธิภาพต่อพื้นที่ที่ดีกว่า ท่ามกลางราคาที่จับต้องได้ในปัจจุบัน
หมายเหตุ : 1/ วัดจากปริมาณการผลิตไฟฟ้าต่อพื้นที่แผงโซลาร์
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของศูนย์ PLC เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม, American Solar Energy Society และ Forbes
ระบบการติดตั้ง Solar rooftop ที่เป็นที่นิยมในปัจุบันของไทย คือ On Grid System ด้วยต้นทุน ที่จับต้องได้มากกว่ารูปแบบอื่น ๆ ซึ่งมีต้นทุนแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นมา ทั้งนี้รูปแบบในการติดตั้ง Solar rooftop
มี 3 รูปแบบ ได้แก่ On Grid, Off Grid และ Hybrid โดยรูปแบบที่นิยมติดตั้งในไทย คือ On Grid System หรือ Grid Tie System ซึ่งมีอุปกรณ์หลักเพียงแผงโซลาร์และ Inverter ทั้งนี้แม้ข้อเสียของ On Grid คือจะยังคงต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายก็ตาม เนื่องจากไม่มีแบตเตอรี่ในการสะสมไฟฟ้าส่วนเกินเพื่อมาใช้ในช่วงเวลาที่ไม่มีแสง แต่ต้นทุนการติดตั้งที่จับต้องได้ ทำให้การคืนทุนของครัวเรือนทำได้ดีกว่า การติดตั้งในระบบอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องมีแบตเตอรี่ ซึ่งสำหรับที่อยู่อาศัยเพื่อให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยมักใช้แบตเตอรี่ Lithium ซึ่งราคายังค่อนสูง โดยราคาติดตั้งอาจสูงขึ้นไปราว 50-60% ของการติดตั้งแบบ On Grid (รายละเอียดตามรูปที่ 5)
รูปที่ 5 : ระบบ Solar rooftop ที่เป็นที่นิยมในปัจุบันของไทย คือ On Grid System ด้วยต้นทุนที่จับต้องได้มากกว่ารูปแบบอื่น ๆ ซึ่งที่มีต้นทุนแบตเตอรี่เพิ่มเติม
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของศูนย์ PLC เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และ PowerCreation
ใคร คือ กลุ่มเป้าหมายในการติดตั้ง Solar rooftop สำหรับภาคครัวเรือน ?
แม้โอกาสการติดตั้ง Solar rooftop จะมากขึ้นจากราคาที่ถูกลง แต่ก็ใช่ว่าครัวเรือนทุกหลังจะมีความเหมาะสมที่จะติดตั้ง โดยครัวเรือนต้องพิจารณาในหลายประเด็น ทั้งพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ด้วยรูปแบบที่ Solar rooftop ที่ต้นทุนจับต้องได้ คือ On Grid System ทำให้เหมาะสมกับครัวเรือนที่มีการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันค่อนข้างสูง เช่น บ้านที่มีผู้สูงอายุไม่ได้ทำงาน และ Home Office เป็นต้น ประเภทหลังคาของครัวเรือนต้องแข็งแรงและเหมาะสมกับการติดตั้งแผงโซลาร์ และรวมถึงจำนวนปีที่คุ้มทุนของการติดตั้ง Solar rooftop
ก่อนที่จะพิจารณาถึงจุดคุ้มทุน หรือกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นใคร เราต้องทราบถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ Solar rooftop ก่อน โดยค่าใช้จ่ายหลักจะอยู่ในช่วงแรกของการติดตั้ง โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ในหลักแสนต่อการติดตั้ง มากน้อยตามขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าของแผงโซลาร์ ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อกำลังการผลิตจะยิ่งถูกลงเมื่อติดตั้งในกำลังการผลิตที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ครัวเรือนยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา เช่น ตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ การล้างแผงโซลาร์ เป็นต้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในช่วงหลักพันถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่ขนาดกำลังการติดตั้ง (โดยผู้ติดตั้งมักแถมให้ฟรีในช่วง 1-2 ปีแรกของการติดตั้ง) แต่หากพ้น 10 ปีแรกของการติดตั้งแล้ว ครัวเรือนอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นได้หากเครื่อง Inverter เสียหาย (ปกติผู้ติดตั้งมักจะรับประกัน Inverter เพียง 10 ปี แต่รับประกันแผงโซลาร์ 25 ปี อย่างไรก็ตาม โดยปกติ Inverter ไม่ได้เสียหายได้ง่าย และไม่จำเป็นว่า 10 ปีแล้วต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ทันที)
รูปที่ 6 : ต้นทุนหลักของ Solar rooftop จะอยู่ในช่วงที่ติดตั้ง ที่มีค่าใช้จ่ายหลักแสน
หมายเหตุ : 1/ ค่าเฉลี่ยผู้รับติดตั้ง 7 ราย ได้แก่ 2 รายจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 2 รายจากบริษัทขนาดใหญ่ 3 รายจากบริษัทขนาดเล็ก ทั้งนี้ราคาที่รวบรวมเป็นราคาที่นับรวม VAT ค่าใช้จ่ายการขออนุญาตติดตั้งกับการไฟฟ้า และ Smart meter แต่ไม่นับรวมโปรโมชั่นลดราคาและค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากความยากในการติดตั้ง
2/ ไม่ได้นับรวมค่าเปลี่ยน Inverter ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ติดตั้งจะรับประกัน 10 ปี ซึ่งหากมีการเสียหายหลัง 10 ปี อาจต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ ค่าใช้จ่ายปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3-8 หมื่นบาท สำหรับกำลังการผลิต 3-20 kWp
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ MEA, PEA, ERC, SCG, A Solar, EnergyDD, SolarReviews, Banpu, Solarcellguru และ IEA
หากพิจารณาจากต้นทุน การประหยัดค่าไฟฟ้า พร้อมกับจุดคุ้มทุน ครัวเรือนที่เหมาะสมจะติดตั้ง Solar rooftop ควรมีค่าไฟฟ้าอย่างน้อย 3,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป และใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันตั้งแต่ 50% ของการใช้ไฟฟ้าตลอดวัน ทั้งนี้จากต้นทุนในการติดตั้ง Solar rooftop ตามรูปที่ 7 หากเรานำมาประเมินความคุ้มค่าและจุดคุ้มทุนในการติดตั้ง Solar rooftop ภายใต้ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าที่ราว 4-50 kW ต่อวัน สำหรับกำลังการผลิตสูงสุดของ Solar rooftop ที่ 1.5-20 kWp โดยหากค่าไฟฟ้าอยู่ที่เฉลี่ย 5.2 บาทต่อหน่วย ครัวเรือนจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้สุทธิหลังหักค่าบำรุงรักษาแล้วอยู่ในช่วง 300-19,000 บาทต่อเดือน สำหรับกำลังการผลิตสูงสุดของ Solar rooftop ที่ 1.5-20 kWp ซึ่งจะส่งผลให้จุดคุ้มทุนเฉลี่ยอยู่ในช่วง 4-21 ปี (รูปที่ 7)
รูปที่ 7 : ครัวเรือนที่เหมาะสมจะติดตั้ง Solar rooftop ควรมีค่าไฟฟ้าอย่างน้อย 3,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป และใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันตั้งแต่ 50% ของการใช้ไฟฟ้าตลอดวัน
หมายเหตุ : 1/ กำลังการผลิตสูงสุดถูกทอนลงด้วย Transmission losses 20% ความสกปรกของแผงโซลาร์หรือในวันที่เมฆมากและอื่น ๆ 10-20% ขณะที่จำนวนชั่วโมงของการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ย 5 ชั่วโมงต่อวัน (แม้แสงอาทิตย์จะมี 12 ชั่วโมง แต่การผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นตามความเข้มแสง) นอกจากนี้ ประสิทธิภาพการผลิตจะลดลงตามอายุการใช้งาน Solar panel โดยลดลงเฉลี่ยปีละ 0.8% ตลอดช่วง 25 ปี
2/ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้เฉลี่ยต่อวันอาจแตกต่างกันไปตามพื้นที่ เช่น ภาคใต้อาจได้ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในตาราง เนื่องจากจำนวนวันที่ฝนตกมีมากกว่า
3/ คำนวณจากอัตราค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย ในกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 150 หน่วยต่อเดือน ด้วยค่า FT ที่ 0.9343 และรวม VAT : หน่วยที่ 0-150 ค่าไฟฟ้ารวม = 4.48 บาท/หน่วย 151-400 = 5.52 บาทต่อหน่วย > 400 = 5.73 บาทต่อหน่วย
4/ พิจารณาที่การใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวัน 50% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าตลอดวัน และสามารถใช้ไฟฟ้าได้เต็มปริมาณที่ผลิตได้ตลอดช่วง 5 ชั่วโมง
5/ ค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ที่ติดตั้ง เช่น ภาคใต้ที่มีจำนวนวันที่ฝนตกหนักที่มากกว่าภาคอื่น ๆ ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง ค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้อาจลดลง ส่งผลต่อการคืนทุนที่ช้าลง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้อาจมากกว่าที่ประเมิน หากครัวเรือนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า และ/หรือ ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยราคาสูงขึ้น
6/ จุดคุ้มทุนควรต่ำกว่า 10 ปี หรือใกล้เคียง เนื่องจากในการติดตั้ง Solar rooftop มีการรับประกัน Inverter เพียงแค่ 10 ปี ทำให้ผู้ติดตั้งมีความเสี่ยงที่ต้องเปลี่ยน Inverter ตัวใหม่ ซึ่งมีราคาปัจจุบันอยู่ที่ราว 30-80K สำหรับกำลังการผลิต 3-20 kWp
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จาก MEA, PEA, ERC, SCG, A Solar, EnergyDD, SolarReviews, Banpu, Solarcellguru, A Solar, EnergyDD, Homepro, Comsys solar, Banpu, OAE และ Letsaveekectriciity
ทั้งนี้เราพบว่าครัวเรือนไม่ควรติดตั้ง Solar rooftop ที่ขนาดกำลังการผลิตต่ำกว่า 3 kWp หรือมีค่าไฟฟ้าต่อเดือนต่ำกว่า 3,000 บาท เนื่องจากหากติดตั้งที่กำลังการผลิตต่ำกว่านั้น โอกาสได้กำไรหรือใช้ไฟฟ้าฟรีจะมีน้อย โดยขนาดกำลังการผลิตที่ 1.5 kWp มีจุดคุ้มทุนเฉลี่ย 21 ปี ซึ่งเกือบเท่ากับอายุของแผงโซลาร์ที่ 25 ปี
ขณะที่กลุ่มที่ติดตั้งที่ขนาดกำลังการผลิต 3 kWp หรือค่าไฟฟ้า 3-6 พันบาทต่อเดือน แม้จะมีจุดคุ้มทุนมากกว่า 10 ปี ของการประกัน Inverter ทำให้ความเสี่ยงที่ต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากการเปลี่ยนหรือการซ่อมแซม Inverter แต่ SCB EIC มองว่าการติดตั้ง Solar rooftop จะสนับสนุนให้พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนเปลี่ยนแปลงไป ทำให้จุดคุ้มทุนขยับลงมาเร็วขึ้น เช่น ครัวเรือนมีแนวโน้มเปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงกลางวันมากขึ้น และครัวเรือนมีการปรับอัตราการจัดเก็บค่าไฟฟ้าจากรูปแบบปกติเป็นรูปแบบอัตราตามช่วงเวลาการใช้ (Time of Use Tariff : TOU Tariff) ซึ่งจะช่วยให้ครัวเรือนประหยัดค่าไฟฟ้าต่อหน่วยในช่วงกลางคืนลงไปราว 50% เป็นต้น
ดังนั้น จากข้อมูลข้างต้น เราสามารถสรุปเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับครัวเรือนที่ต้องการติดตั้ง Solar rooftop ดังนี้
1. ค่าไฟฟ้าตั้งแต่ 3,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป
2. ใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันอย่างน้อย 50% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าตลอดวัน เช่น ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุหรือมีผู้ที่ต้องมีคนดูแล/พิการที่ไม่ได้ไปทำงาน และ Home office เป็นต้น
3. หลังคามีพื้นที่ติดตั้งอย่างน้อย 14 ตร.ม. ใช้วัสดุที่แข็งแรงรับน้ำหนักได้ และลาดเอียงทางทิศใต้/ตะวันตก/ตะวันตกเฉียงใต้
รูปที่ 8 : เงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับครัวเรือนที่ต้องการติดตั้ง Solar rooptop และตัวอย่างกลุ่มเป้าหมาย
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC
รูปที่ 9 : กลุ่มเป้าหมายสำหรับ Solar rooftop มีอยู่ 1.7 แสนครัวเรือน มูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท
หมายเหตุ : 1/ ทะเบียนสถานะใบอนุญาตและการรับแจ้งที่เกี่ยวข้องของผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Rooftop PV System) ประเภทที่อยู่อาศัยมีจำนวน 7,953 ครัวเรือน และมีโครงการโซลาร์ภาคประชาชนราวเกือบ 700 ครัวเรือน ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้นับรวมครัวเรือนที่ไม่ได้รายงานกับ ERC ดังนั้น SCB EIC ปรับตัวเลขขึ้นไปเพื่อให้จำนวนครัวเรือนที่ติดตั้งแล้วไม่ต่ำเกินไป
2/ Criteria : 1. บ้านเดี่ยวและบ้านทาวนเฮ้าส์ที่ทำจาก Cement 2. ครัวเรือนที่มีบ้านเป็นของตนเอง/ผ่อนชำระอยู่ 3. ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุ/ผู้ที่ต้องมีคนดูแล/เด็กที่ไม่ได้ไปทำงาน/เรียน และ/หรือ Home office และ 4. ค่าไฟฟ้าต่อเดือนมากกว่า 3,000 บาท
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ NSO, SCB’s Strategic Management Division และ ERC
กลุ่มเป้าหมายของการติดตั้ง Solar rooftop ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และภาคกลางเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ค่อนข้างสูง คือ มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน (หรือรายได้ต่อคนประมาณ 25,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป หากมีสมาชิกในครอบครัวที่ทำงานอยู่ 2 คน) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของกลุ่มเป้าหมาย 1.7 แสนครัวเรือน ขณะที่กลุ่มรายได้ปานกลางที่ 30,000-50,000 บาทต่อเดือนมีสัดส่วน 15% และกลุ่มรายได้น้อย (รายได้ครัวเรือนน้อยกว่า 30,000 บาทต่อเดือน) มีเพียง 2%
รูปที่ 10 : กลุ่มเป้าหมายของการติดตั้ง Solar rooftop กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และภาคกลางเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ค่อนข้างสูง
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ NSO, SCB’s Strategic Management Division และ ERC
ปัจจัยเร่งที่อาจช่วยสนับสนุนให้ครัวเรือนไทยที่ยังไม่ได้ติดตั้ง Solar rooftop หันมาติดตั้งมากขึ้น
จากข้อจำกัดในแง่ของต้นทุนการติดตั้ง ประโยชน์จากค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ (โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวัน) และจุดคุ้มทุนที่ยังยาวนานในขนาดกำลังการผลิตที่ต่ำ นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคยังไม่เข้าใจหรือยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะติดตั้งแล้วคุ้มค่าหรือไม่ ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสติดตั้ง Solar rooftop จะมีเพียง 0.8% ของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมดที่ 23 ล้านครัวเรือน ท่ามกลางเงื่อนไขราคาติดตั้งและต้นทุนค่าไฟฟ้าแบบปัจจุบัน ขณะที่ครัวเรือนที่ติดตั้ง Solar rooftop ไปแล้วยังมีไม่ถึง 0.1% ซึ่งถือว่าเป็น Adoption rate ที่ต่ำมาก
อย่างไรก็ตาม Adoption rate อาจเร่งตัวขึ้นได้อีก หากมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากปัจจุบัน อาทิ
1. การแข่งขันของผู้ติดตั้งที่มีสูงขึ้น (ท่ามกลางต้นทุนแผงโซลาร์ที่ถูกลง) ทำให้ต้นทุนติดตั้งถูกลง ส่งผลบวกต่อจุดคุ้มทุนให้ลดลง สร้างแรงจูงใจมากขึ้น โดยปัจจุบันผู้ติดตั้งในตลาดมีค่อนข้างมากและหลากหลาย ทั้งกลุ่มรัฐวิสากิจอย่างการไฟฟ้านครหลวงและภูมิภาค บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ และเอกชนท้องถิ่น
2. ราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น จากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น หรือจำนวนวันที่อากาศร้อนมีมากขึ้น รวมถึงความต้องการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มากขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า Household smart device และกล้องวงจรปิด เป็นต้น
3. ต้นทุนของแบตเตอรี่ที่ถูกลง ซึ่งจะสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายติดตั้งกว้างมากขึ้น เนื่องจากครัวเรือนสามารถใช้ไฟฟ้าได้ในช่วงเวลาที่แผงโซลาร์ไม่ได้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันราคาของแบตเตอรี่ Lithium-ion ยังค่อนข้างสูงสำหรับการติดตั้งในที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ราคาแบตเตอรี่ Lithium-ion ในตลาดโลกมีทิศทางลดลง โดย Bloomberg รายงานว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาราคาแบตเตอรี่ Lithium-ion ลดลงไปแล้วเกือบ 90% และคาดว่าจะลดลงราว 60% ในช่วงอีก 10 ปีถัดมา
4. การอุดหนุนของภาครัฐ ในปัจจุบันไทยมีโครงการรับซื้อไฟภาคประชาชน โดยกำหนดโควตาเป็นรอบ ๆ
แต่ราคารับซื้อที่ 2.2 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า ซึ่งยังค่อนข้างต่ำและไม่สร้างแรงจูงใจให้ครัวเรือน (หากเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิตหน้าโรงไฟฟ้าในทุกประเภทพลังงานของไทยเฉลี่ยที่ 3.77 บาทต่อหน่วยในปี 2022 และต้นทุนการผลิตหน้าโรงไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของไทยเฉลี่ยที่ 7.73 บาทต่อหน่วย แม้ว่าปัจจุบันราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์โครงการใหม่ ๆ จะลดลงมาอยู่ที่ราว 2.17 บาท/หน่วย) ทำให้การเติบโตของกลุ่ม Solar rooftop ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นได้ช้า โดยสิ่งที่ไทยอาจเพิ่มเติมได้ คือ การให้เงินอุดหนุนเพื่อลดต้นทุนการติดตั้งลง เพื่อให้จุดคุ้มทุนมีมากขึ้น
ทั้งนี้หากมองไปที่ประเทศออสเตรเลียที่มี Adoption rate ของ Solar rooftop ภาคที่อยู่อาศัยสูงถึงกว่า 30% ส่วนหนึ่งมาจากการอุดหนุนของภาครัฐที่มีต่อครัวเรือนในด้านต้นทุนการติดตั้ง เช่น เงินช่วยเหลือเพื่อเป็นส่วนลดการซื้อแผงโซลาร์และแบตเตอรี่ 1,400-6,000 ดอลลาร์สหรัฐ (เทียบกับราคา Solar rooftop
ที่ 5,500-9,500 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับ 5 kWp)
5. Platform ในการช่วยตัดสินใจในการติดตั้ง Solar rooftop แม้ว่าข้อมูลในการติดตั้ง Solar rooftop
ในปัจจุบันจะมีค่อนข้างมาก รวมถึงข้อมูลที่คำนวนโดยผู้ติดตั้ง แต่ข้อมูลที่ช่วยให้ผู้บริโภคใช้ประกอบการตัดสินใจถึงความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการติดตั้ง Solar rooftop แบบเฉพาะเจาะจงกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าและรูปแบบหลังคาที่เหมาะสมกับครัวเรือนแต่ละรายยังไม่มีแพร่หลาย ซึ่งหากภาครัฐสามารถพัฒนา Platform ที่ช่วยคำนวณความคุ้มค่าในการติดตั้ง Solar rooftop ให้ภาคครัวเรือนได้ (คล้าย Platform ช่วยคำนวณการซื้อกองทุนเพื่อประหยัดภาษี) น่าจะเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ครัวเรือนตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้น
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/solar-rooftop-300523
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
นพมาศ ฮวบเจริญ (nopphamas.houbjaruen@scb.co.th)
นักวิเคราะห์อาวุโส
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS