การส่งออกไตรมาสแรกของปี 2566 ยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก

การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2566 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือน 6 ติดต่อกันที่ -4.2% (YoY) โดยปัจจัยที่มีผลต่อการการส่งออกในเดือนนี้มาจากปัจจัยฐานที่อยู่ในระดับสูงของช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า ซึ่งขณะนั้นตลาดยังไม่สามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และการเริ่มก่อตัวของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อสหรัฐฯ และยูโรโซน จึงส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร สินค้าโภคภันฑ์ รวมถึงทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า การส่งออกไทยเดือนมีนาคม 2566 ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ และมีมูลค่าสูงถึง 27,654.4 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งสูงสุดในรอบ 12 เดือน ตามการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมหลายประเภทที่เพิ่มขึ้น โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวได้หลังหดตัวติดต่อกัน 3 เดือนโดยมีการขยายตัวของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัจจัยสนับสนุนซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทย ประกอบกับสินค้าที่สนับสนุนการทำงานในลักษณะ work from home และการอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต รวมถึงสินค้าที่สอดคล้องกับกระแสลดโลกร้อนอย่างโซลาเซลล์ยังเป็นที่ต้องการ เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่กลับมาขยายตัวได้ในรอบ 6 เดือน อีกทั้ง การส่งออกไปยังจีนที่แม้จะยังหดตัวแต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนโดยมีปัจจัยหนุนจากกลุ่มสินค้าเกษตร ขณะที่การส่งออกไปยังยูโรโซนเผชิญกับการหดตัวครั้งแรกหลังขยายตัวติดต่อกัน 2 เดือนตามฐานที่สูงในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ในภาพรวมของไตรมาส 1/2566 การส่งออกไทยหดตัวที่ -4.5% (YoY) ขณะที่การนำเข้าหดตัวเล็กน้อยที่ -0.5% (YoY) ส่งผลให้ไทยยังคงเผชิญกับการขาดดุลการค้าที่ 3,044.2 ล้านดอลลาร์ฯ

สำหรับแนวโน้มการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่าบรรยากาศการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาภาคธนาคารในประเทศตะวันตก สภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงทิศทางค่าเงินในระยะข้างหน้า ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามากดดันภาพรวมการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2566 ติดลบที่ -1.2% โดยจากปัจจัยฐานในไตรมาสแรกของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูงจะส่งผลให้การส่งออกไทยในไตรมาส 1/2566 หดตัวมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสอื่น ๆ ในปีนี้ ขณะที่ในระยะข้างหน้าการส่งออกไทยอาจหดตัวชะลอลงในไตรมาสถัดไปและอาจกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จากปัจจัยฐานที่ลดลง ขณะที่แม้ดุลการค้าได้กลับมาเป็นบวกในเดือนมีนาคม 2566 กว่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ฯ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะข้างหน้ามีความเป็นไปได้ที่ดุลการค้าจะพลิกกลับมาติดลบได้อีกตามมูลค่าการส่งออกที่อาจลดลง ขณะเดียวกันการนำเข้าก็มีความเสี่ยงที่จะยังยืนอยู่ในระดับสูงตามอุปสงค์ในประเทศที่ยังขยายตัวได้ ประกอบกับความไม่แน่นอนด้านทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ทั้งนี้ สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรไทยในอนาคตอาจต้องเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้นจากความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัดซึ่งอาจกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรให้ลดลง... การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยมีสัดส่วนเกือบ 10% ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 สามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหลังหดตัว 4 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าดังกล่าวในปีนี้อาจเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยล่าสุดศูนย์พยากรณ์สภาพอากาศแห่งองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ได้ออกรายงานฉบับเดือนเมษายน 2566 ซึ่งสอดคล้องกับการพยากรณ์ของสำนักอุตุนิยมวิทยาหลายแห่ง โดยเตือนภัยว่ามีโอกาสมากกว่า 60% ที่โลกจะเผชิญปรากฎการณ์เอลนีโญในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2566 อีกทั้ง ยังมีโอกาสที่จะเกิดปรากฎการณ์ “ซุปเปอร์เอลนีโญ” ได้ในช่วงปลายปีนี้ ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี 2558-2559 ซึ่งเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ่รุนแรงครั้งล่าสุด การส่งออกสินค้าเกษตรไทยได้รับผลกระทบจากผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง อาทิ ข้าว ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากปริมาณน้ำที่ใช้สำหรับการเกษตรมีน้อยกว่าระดับปกติ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรในขณะนั้นที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในช่วงเวลาดังกล่าวลดลงเหลือประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์ฯ (มูลค่าเฉลี่ย 10 ปีอยู่ที่ประมาณ 22,600 ล้านดอลลาร์ฯ) ดังนั้น ในปีนี้ผลผลิตทางการเกษตรจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและอาจมีปริมาณลดลงจากปีก่อนหน้าได้ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องจับตาเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในปีนี้ได้ อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าเกษตรหลักของไทย โดยเฉพาะข้าวและมันสำปะหลัง มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามแรงหนุนด้านอุปสงค์จากจีนเปิดประเทศ ประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรยืนสูง อาทิ ราคาน้ำมัน แนวโน้มอุปทานในตลาดโลกที่ตึงตัวจากอากาศที่แล้งขึ้น ความเสี่ยงเรื่องสงคราม และการจำกัดการส่งออกของประเทศผู้ส่งออกหลัก ซึ่งคาดว่าราคาสินค้าเกษตรจะช่วยหนุนมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทยในปีนี้ได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับปรากฎการณ์เอลนีโญอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแผนการรับมือของภาครัฐซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้มีมาตรการเร่งกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ราว 60% ของความจุทั้งหมด


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment