กฟผ.ร่วมกับสถาบันฯสิ่งทอ เผยผลสำเร็จงานวิจัยโครงการผ้าเบอร์ 5 และชุดนักเรียนเบอร์ 5

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เผยผลสำเร็จการศึกษาและวิเคราะห์คุณสมบัติผ้าเพื่อประหยัดพลังงานในโครงการผ้าเบอร์ 5 พร้อมพัฒนาต้นแบบชุดนักเรียนเบอร์ 5 นำร่องส่งมอบให้นักเรียนในโครงการห้องเรียนสีเขียวของ กฟผ. 15 โรงเรียนในพื้นที่นนทบุรีทดลองใช้

นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ดำเนินโครงการเสื้อผ้าเบอร์ 5 ภายใต้โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 มาตั้งแต่ปี 2560 โดยมีแนวคิดสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้เสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วเย็นสบาย มีส่วนร่วมในการช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าด้วยการลดขั้นตอนการรีดผ้า และมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายและเป้าหมายของ กฟผ. คือ EGAT Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) กฟผ. ได้ร่วมหารือกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรม สิ่งทอและผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่มีศักยภาพ เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ของเนื้อผ้าและเสื้อผ้าที่เหมาะสมเพื่อรับการรับรองฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5

ปัจจุบันมีผ้าโครงสร้างต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองผ้าและเสื้อผ้าเบอร์ 5 ไม่ต่ำกว่า 100 โครงสร้าง มีทั้งที่เป็นผ้าทอ (woven fabric) และผ้าถัก (knitted fabric) ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นเสื้อเชิ้ต เสื้อโปโล เสื้อกีฬา ชุดยูนิฟอร์ม และชุดนอน พร้อมขยายขอบข่ายการรับรองในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในปี 2564 จากความสำคัญดังกล่าว กฟผ.จึงได้ดำเนิน “โครงการศึกษาและวิเคราะห์คุณสมบัติผ้าและเกณฑ์การทดสอบที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการผ้าเบอร์ 5 และชุดนักเรียนเบอร์ 5” ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวเสริมว่า ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อยกระดับและสร้างความรับรู้เกี่ยวกับผ้าที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 โดยเป็นไปตามเกณฑ์การยอมรับได้ในระดับสากล และศึกษาคุณลักษณะของผ้าที่เหมาะสำหรับผลิตเป็นชุดนักเรียนตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. 2137-2559 พร้อมพัฒนาต้นแบบชุดนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเบอร์ 5 โดยชุดนักเรียนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการผลิตและการซื้อในจำนวนมากในแต่ละปี ทั้งยังมีการใช้ซ้ำ ซักรีดบ่อย ทำให้มีการใช้พลังงานมากเป็นลำดับต้น ๆ กฟผ.และสถาบันฯสิ่งทอ จึงได้นำมาพิจารณาและเห็นถึงความเหมาะสมในการขยายขอบข่ายพัฒนาเนื้อผ้าดังกล่าว โดยมุ่งเน้นให้มีคุณสมบัติด้านความคงทนของเนื้อผ้า ความปลอดภัยจากสีย้อมและสารเคมีตกค้าง ลดความร้อน สวมใส่แล้วเย็นสบายแม้อยู่ในห้องปรับอากาศที่มีอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด ต้องมีคุณสมบัติการคืนตัวหลังการซัก และต้องให้ได้ตามมาตรฐาน มอก.ตามระบุข้อจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยการพัฒนาได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ภาคการศึกษา จนประสบผลสำเร็จ พร้อมพัฒนาต้นแบบชุดนักเรียนเบอร์ 5 “สวมใส่สบาย ยับยาก ลดการรีดผ้า ลดใช้พลังงาน”

จากผลการทดสอบในงานวิจัยเสื้อนักเรียนเบอร์ 5 โดยใช้เตารีดขนาด 1,800 W ปรับไฟปานกลาง เริ่มต้นที่ความยับเท่ากันและหยุดวัดพลังงานเมื่อผ้าทั้ง 2 เรียบในระดับเดียวกัน พบว่า เสื้อต้นแบบเบอร์ 5 ใช้พลังงานในการรีดเพียง 0.55 หน่วย ต่อ 1 ตัว คิดเป็นเงิน 2.2 บาท เมื่อเทียบกับเสื้อนักเรียนปกติใช้ 0.91 หน่วย คิดเป็นเงิน 3.64 บาท และจากข้อมูลจำนักงานสถิติแห่งชาติ (พ.ศ. 2564) มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ก่อนประถมศึกษา-อุดมศึกษา มีจำนวน 12,327,215 คน หากมีการใช้ชุดนักเรียนเบอร์ 5 จำนวน 10% จากยอดดังกล่าว เพียงคนละ 1 ตัวจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 62 ล้านบาท

สำหรับต้นแบบชุดนักเรียนเบอร์ 5 ประกอบไปด้วย ชุดนักเรียนชาย และชุดนักเรียนหญิง ได้มีการนำร่องส่งมอบให้นักเรียนในโครงการห้องเรียนสีเขียวของ กฟฝ. ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีจำนวน 15 โรงเรียน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จำนวน 150 คน คนละ 2 ชุด นำไปทดลองใช้และอยู่ระหว่างการสำรวจความพึงพอใจ

จากผลสำเร็จในพัฒนาต่อยอดผ้า และต้นแบบชุดนักเรียนของฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 นั้น คาดว่าจะช่วยเพิ่มทางเลือกและแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองได้มากขึ้น เพราะนอกจากจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาในการรีดผ้าและทำให้ค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าลดลงอีกด้วย โดย กฟฝ.และสถาบันฯสิ่งทอ พร้อมเร่งสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อขอการรับรองฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 สู่เชิงพาณิชย์ เพื่อร่วมขับเคลื่อนด้านการอนุรักษ์พลังงาน มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment