{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3/2564 เผชิญกับประเด็นทางเศรษฐกิจทั้งภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ทางการตอนกลางของประเทศ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องปิดท่าเรือส่งผลต่อการขนส่งชะงักงัน ปัญหาพลังงานขาดแคลนจากมาตรการควบคุมสิ่งแวดล้อมและจากการนำเข้าถ่านหินที่ลดลงผลจากความตึงเครียดทางการค้ากับออสเตรเลีย รวมถึงความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์จากการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนนั้นมีอย่างจำกัด ทำให้ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3/2564 นี้ชะลอตัวที่ร้อยละ 4.9 (YoY) ต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 18.3 (YoY) และไตรมาส 2/2564 ที่ร้อยละ 7.9 (YoY) ตามลำดับ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ภาคการผลิตจีนถูกกดดันจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและปัญหาพลังงานขาดแคลน ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าหน้าโรงงานยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยขยายตัวในกรอบร้อยละ 9.0 – 10.7 (YoY) ในไตรมาสที่ 3 นี้ จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ถ่านหิน เหล็ก และเคมีภัณฑ์ที่ราคายังคงสูงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ภาคการผลิตยังถูกกดดันจากปัญหาวิกฤติด้านพลังงาน จากทั้งมาตรการควบคุมทางสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ และจากต้นทุนถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าชะลอการผลิตท่ามกลางอุปสงค์ที่สูง ส่งผลให้ภาคการผลิตจีนเติบโตอย่างชะลอตัว สะท้อนจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production Index) ที่เติบโตในกรอบร้อยละ 3.1-6.4 (YoY) ในไตรมาสนี้ ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวในกรอบร้อยละ 8.3 – 9.8 (YoY)
ภาคการบริการจีนได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากพบการแพร่ระบาดโควิด-19 ชนิดกลายพันธ์เดลต้าช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ที่เริ่มจากมณฑลเจียงซูก่อนจะลุกลามไปกว่า 31 มณฑล ทางการจีนได้ใช้มาตรการเข้มข้นสกัดกั้นการลุกลามของเชื้อตามนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ในการปิดเมือง ส่งผลให้ภาคบริการของจีนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง สะท้อนจากตัวเลขการค้าปลีก (Retail Sale) ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.5 (YoY) ในเดือนสิงหาคม และสะท้อนผ่านตัวเลข PMI (Caixin) ภาคบริการในเดือนสิงหาคม ที่ปรับตัวลงมาที่ 46.7 ซึ่งต่ำกว่าค่ากลาง 50.0 บ่งชี้ว่าภาคบริการโดยทั่วไปมีการหดตัว ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกหลังจากจีนฟื้นตัวจากโควิด
การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรส่งสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกกดดันจากทั้งมาตรการของรัฐและแรงกดดันจากตลาด แม้ว่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรโดยทั่วไปยังขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 (YTD, YoY) แต่ความกังวลของภาคเศรษฐกิจกำลังเริ่มก่อตัวขึ้น หลังข่าวการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน ทำให้อาจมีผลกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรอาจจะชะลอลง แม้ว่าทางการจีนมีความพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้มีการปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม
การส่งออกยังคงขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยในสามไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 22.7 (YoY,YTD) แตะระดับ 15.55 ล้านล้านหยวน โดยหากเทียบเฉพาะไตรมาสที่ 3 ของปีนี้กับปีที่แล้ว การส่งออกขยายตัวร้อยละ 14.04 (YoY) ผลจากการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งของประเทศคู่ค้า โดยสินค้าส่งออกที่มีการขยายตัวโดดเด่นได้แก่ อุปกรณ์ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก แผง LCD ของเล่นเด็ก ปุ๋ย และสินแร่หายาก ขณะที่ มีการหดโตในผลิตภัณฑ์ผ้าและด้ายทอ ด้านการนำเข้าของจีนในสามไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 22.6 (YoY,YTD) แตะระดับ 12.79 ล้านล้านหยวน โดยสินค้านำเข้าที่มีการขยายตัวโดดเด่นได้แก่ เมล็ดธัญพืช ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฮเทค แร่เหล็กและแร่ทองแดง น้ำมันดิบ ทั้งนี้ การเพิ่มของมูลค่านำเข้าของ แร่เหล็กและแร่ทองแดงรวมถึงน้ำมันดิบ เกิดขึ้นจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้น มากกว่าปริมาณนำเข้าที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ในสามไตรมาสแรกของปี อาเซียนยังครองตำแหน่งคู่ค้าอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ
มองไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง จากทั้งฐานที่สูงในปีก่อน และจากปัจจัยความไม่แน่นอนที่รุมเร้า โดยเฉพาะวิกฤติพลังงานขาดแคลนที่อาจจะลากยาวข้ามช่วงฤดูหนาวของปี แม้ว่าทางการจีนจะพยายามอย่างต่อเนื่องในการหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ทดแทนการใช้ถ่านหิน อย่างไรก็ดี ถ่านหินยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักของจีนในการใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งอุปทานถ่านหินที่ลดลงจากทั้งจากทั้งมาตรการควบคุมสิ่งแวดล้อมของภาครัฐและการนำเข้าที่ลดลงผลจากความขัดแย้งทางการค้ากับตลาดนำเข้าถ่านหินหลักอย่างออสเตรเลีย กดดันราคาถ่านหินให้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ผลิตเพิ่มขึ้นสูงและทำให้อาจชะลอการผลิตออกไป ซึ่งผลกระทบต่อภาคการผลิตจีนยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม จากความเชื่อมโยงที่สูงระหว่างห่วงโซ่การผลิตจีนและโลก การชะงักงันภาคผลิตของจีนอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตโลก (Global Supply Chain) ได้
ในฐานะที่ไทยพึ่งพาการนำเข้าจากจีนในสัดส่วนสูงถึง 24% ในปี 2563 และสินค้าส่วนใหญ่เป็นการผลิตในอุตสาหกรรมหนัก ดังนั้นการชะงักงันของภาคผลิตจีนจากการขาดแคลนพลังงาน และต้นทุนทางพลังงานที่สูงขึ้น อาจส่งผลต่อปริมาณที่ลดลงและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ในสินค้าที่มีการผลิตโดยการใช้พลังงานเข้มข้น อาทิ เหมืองแร่ เหล็ก อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรหนัก พลาสติก ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน ทั้งปี 2564 ลงมาในกรอบ 7.5 – 8.0 (YoY) จากความเสี่ยงด้านวิกฤติพลังงานที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งอาจมีผลจะกระทบเศรษฐกิจเป็นวงกว้างทั้งภาคผลิตและภาคบริการ กอปรกับปัญหาเดิมที่ยังคั่งค้าง อาทิ การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่ส่งกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และบรรยากาศการลงทุนของจีนในภาพรวม รวมถึงความเสี่ยงด้านสงครามทางการค้าที่ยังไม่คลี่คลาย และการออกมาตรการของทางการในการควบคุมธุรกิจต่างๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ เชื่อว่าทางการจีนจะประคับประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือขยายตัวทั้งปี 2564 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.0(YoY)ได้
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS