เคทีซีลุย พิโก-นาโน สินเชื่อทะเบียนรถ

เคทีซีจัดเสวนา #KTC FIT Talks 5: จับเข่าคุย เล่าความเสี่ยงหนี้นอกระบบ ย้ำเป็นหนี้ต้องใช้ เตรียมขยายธุรกิจสู่พิโกไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อทะเบียนรถช่วยลดปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ

นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส – คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี กล่าวในเสวนาปันความรู้ #KTC FIT Talks 5: จับเข่าคุย เล่าความเสี่ยงหนี้นอกระบบ ณ ห้องประชุมใหญ่ “เคทีซี” ชั้น 14 อาคารสมัชชาวาณิช 2 ว่า ปัญหา“หนี้นอกระบบ” ยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา

สาเหตุที่หนี้นอกระบบยังมีอยู่จำนวนมาก เพราะบุคคลขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต้องหันไปพึ่งพาเจ้าหนี้บุคคลนอกระบบ ที่คิดดอกเบี้ยสูงเป็นรายวันหรือรายเดือนนอกจากนี้ หากลูกหนี้ไม่มีเงินชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็อาจใช้วิธีการตามทวงที่รุนแรง ต่างจาก “หนี้ในระบบ”

ที่ผ่านมาภาครัฐเองได้หามาตรการดึงลูกหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบถูกต้อง โดยได้ออกสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ หรือ “นาโนไฟแนนซ์” (Nano Finance) สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือ “พิโกไฟแนนซ์” (Pico Finance) มาเพื่อดึงลูกหนี้เข้าระบบ

โดยเคทีซี มองเห็นโอกาสในทางธุรกิจและการช่วยเหลือผู้ต้องไปกู้หนี้นอกระบบให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้ง่ายขึ้น จึงวางแผนขยาย 3 ธุรกิจใหม่ ได้แก่ นาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน คาดหมายว่าภายในไตรมาส3 นี้ จะสามารถเปิดให้บริการปล่อยสินเชื่อได้ เป้าหมายกลุ่มลูกค้าจะต่างจากเดิม จะช่วยเพิ่มโอกาสขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต ทั้งจากฐานลูกค้าและวงเงินที่ต่างจากสินเชื่อเดิมจะทำให้บริษัทฯ สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดหวังว่าจะเป็นหัวหอกในการขยายฐานรายได้ใหม่ (New S-curve) ให้กับบริษัท เพิ่มเติมจากการทำธุรกิจหลักบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลต่อไป

ทั้งนี้เคทีซีมีความมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการรักษาพอร์ตลูกหนี้โดยรวมให้มีคุณภาพที่ดี โดยจะควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในอัตราที่ต่ำ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคที่ขอสินเชื่อ และเพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระหนี้ครัวเรือนให้กับภาครัฐและภาคสังคมโดยรวม

สำหรับสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ หรือ “นาโนไฟแนนซ์” เพื่อให้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้น้อยหรือเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่ไม่มีเอกสารแสดงแหล่งที่มาของรายได้อย่างชัดเจน และไม่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน หรือไม่เคยมีข้อมูลสามารถแสดงประวัติในการชำระหนี้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยถูก เพื่อนำเงินไปใช้ในการประกอบอาชีพ โดยนาโนไฟแนนซ์มีวงเงินสินเชื่อสูงสุดรายละไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมกันสูงสุดไม่เกิน 36% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก Effective Rate) โดยเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2562 มีผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ทั้งสิ้น 33 ราย จำนวนบัญชีที่ได้รับสินเชื่อนาโน ไฟแนนซ์ทั้งสิ้นเท่ากับ 1.91 ล้านบัญชี และมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 30,669 ล้านบาท

สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ โดยให้กู้ยืมเงินได้โดยมีวงเงินรวมสินเชื่อไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย และกำหนดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมแล้วไม่เกินอัตรา 36% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก Effective Rate) สำหรับการปล่อยกู้วงเงิน 50,000 บาทแรก และวงเงินส่วนที่เกิน 50,000 บาท จะคิดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมแล้วไม่เกินอัตรา 28% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก Effective Rate) นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโก ไฟแนนซ์ สามารถรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นหลักประกัน โดยสิ้นเดือนมีนาคม 2562 มีผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อพิโก ไฟแนนซ์แล้ว 443 ราย ใน 64 จังหวัด โดยมียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมเท่ากับ 76,787 บัญชี และมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 599.56 ล้านบาท

ด้านนายพรเลิศ เบญจกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วินเพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด ผู้ให้บริการติดตามหนี้และด้านกฎหมาย กล่าวว่า ปัจจุบันรูปแบบของการติดตามหนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง แต่ละองค์กรมีการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้มีความเหมาะสมกับการบริหารงาน ทั้งกระบวนการติดตามหนี้และด้านเทคโนโลยี

โดยกลุ่มลูกหนี้นาโน-พิโก ไฟแนนซ์ ที่เป็นฐานลูกค้าคนละกลุ่มกับบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลนั้น หากได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ บริษัทคิดว่าคงใช้แนวทางเดิมเป็นหลัก และจะเน้นเรื่องของข้อมูลการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกหนี้ ที่ผ่านมาเราระวังและคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการชำระหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการติดตามหนี้ เช่น พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอก

ในส่วนของการดำเนินงานภายในเราเน้นไปที่ความรวดเร็วในการติดตามหนี้ และการเข้าถึงลูกหนี้เป็นที่แรกๆ เพราะลูกหนี้นาโน-พิโก ไฟแนนซ์ คงไม่ได้เป็นหนี้อยู่ที่เดียวแน่นอน รวมถึงเรามีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน ที่สำคัญที่สุดคือข้อมูลลูกหนี้ เพราะข้อมูลคือความได้เปรียบเสียเปรียบในการทำธุรกิจในยุคนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทต่างๆ ที่จะให้ความสำคัญหรือไม่ แต่สำหรับเราเพื่อจะได้เห็นตัวตนและพฤติกรรมของลูกหนี้หรือกลุ่มของลูกหนี้อย่างชัดเจน เพื่อให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและนำผลที่ได้ไปกำหนดแนวทางในการบริหาร และการพัฒนาระบบด้านเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับการติดตามหนี้

สำหรับผู้ที่มาขอสินเชื่อและเริ่มมีภาระหนี้เกิดขึ้น และถูกติดตามหนี้จากผู้ทวงถามหนี้ ขอบอกว่า เป็นหนี้ก็ต้องจ่ายคืนแน่นอน จะได้มีความสุขไม่ถูกติดตามหนี้ แต่ถ้าไม่สามารถจ่ายคืนได้ คำถามคือ จะทำอย่างไรดี ลำดับแรก อย่าเครียดกับการเป็นหนี้ และขอให้ตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าจะทำอย่างไร โดยทั่วไปบุคคลที่เป็นหนี้ต้องหยุดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หยุดความอยากได้ไม่สร้างหนี้เพิ่มเติม ใช้ของเดิมที่มีอยู่ ใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเท่านั้น ถ้าไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ก็ให้ลดวงเงิน หรือยกเลิกสินเชื่อที่มีอยู่ คงเหลือไว้เพียงสินเชื่อที่จำเป็นและให้สิทธิประโยชน์แก่ตนเอง ต่อมาชำระหนี้ให้ตรงเวลาเพื่อรักษาประวัติด้านการเงิน หารายได้เพิ่ม อย่าไปกังวลเรื่องหนี้ มองที่เงินที่จะเพิ่มขึ้นจะได้มีความสุข หนี้เป็นปัญหาที่แก้ไขได้แต่ต้องมีการวางแผน ได้กลับมาเป็นลูกค้าที่ดีและมีความสุข


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment