เอเชียพลัสชี้ทิศหุ้นไทย4Q64 “Restart Economy”

เอเซีย พลัส มองตลาดหุ้นไทย 4Q64 “Restart Economy” แนะนำแนะนำสะสมหุ้นกลุ่ม Restart Economy และ Restructure SET50/100 เกาะเทรนด์หุ้นพลังงานสะอาด

สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) ในกลุ่มบริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ประเมินภาพรวมการลงทุนในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 คาดว่าปัจจัยต่างๆที่กดดันตลาดหุ้นน่าจะเหลืออีกไม่มาก ถือเป็นโอกาสทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี เพื่อคาดหวังการเติบโตที่แข็งแรงในช่วงที่เหลือของปี 2564 ต่อเนื่องในปี 2565 โดยวางเป้าหมายดัชนีปี 2565 ในเบื้องต้นไว้ที่ระดับ 1,816 จุด

คุณเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ปัจจัยรบกวนตลาดหุ้นจำนวน 4 ประการ อันได้แก่ 1.ความกังวลกรณีบริษัท Evergrande 2.การส่งสัญญาณลดวงเงิน QE (QE Tapering) ของ Fed 3.ความเสี่ยงจากสถานการร์น้ำท่วมในประเทศ 4.กำไรบริษัทจดทะเบียนช่วง 2H64 มีโอกาสลดลง โดยเฉพาะช่วง 3Q64 แต่โดยรวมประเมินตลาดหุ้นได้ซึมซับไปแล้วในระดับนึงแล้ว”

“ฝ่ายวิจัยคาดว่าเศรษฐกิจไทยงวด 3Q64 จะหดตัว 5.3% yoy แต่จะเห็นการฟื้นตัวของดีขึ้นในช่วง 4Q64 จากการทยอยผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พร้อมๆกับการจัดหาวัคซีนมากขึ้น อีกทั้งผู้ติดเชื้อทยอยลดลงตามลำดับในช่วงปลายปีเป็นต้นไป หนุนเศรษฐกิจเติบโตแบบชัดเจนขึ้นในปี 2565 โดยฝ่ายวิจัยประเมิน GDP ปี 2565 เติบโตถึง 3.2% yoy จาก หดตัว 0.4% yoy ในปี 2564 เช่นเดียวกับกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2565 ที่เบื้องต้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.21 แสนล้านบาท เติบโตถึง 8.8%yoy

ปลายเดือน ก.ย. 2564 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดฟังความคิดเห็นหลักเกณฑ์การทบทวนดัชนี SET50/100 ซึ่งมีแนวคิดนำมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ที่มีการนำจำนวนหุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) หรือ Free Float Adjusted Market Capitalization และระยะเวลาที่หลักทรัพย์นั้นเข้าข่ายการกำกับการซื้อขาย มาร่วมคำนวณดัชนีด้วย ถ้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกหลักทรัพย์เข้าดัชนีจริง ประเมินว่าจะสร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้นได้ในช่วงสั้น เพราะในตลาดมีทั้งหุ้นที่ประโยชน์ และได้รับผลกระทบจากหลักเกณฑ์ใหม่ แต่เชื่อว่าในระยะยาวจะช่วยให้ดัชนีมีเสถียรภาพ และสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้อย่างเหมาะสม

“ในมุม Valuation ยังคงดัชนีเป้าหมาย SET Index ปี 2564 ที่ 1,670 จุด ขณะที่ปี 2565 ประเมินเป้าหมายดัชนีภายใต้ Market Earning Yield Gap ที่ระดับ 3.9% (ระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยในอดีต) ตามกลไกจะได้ PER65F เหมาะสมที่ 22.7 เท่า และเมื่อคูณกับ EPS65F ที่ 80.0 บาท/หุ้น โดยประเมินกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2565F มีจำนวนที่ 9.21 แสนล้านบาท จะได้ดัชนีเป้าหมายขั้นต้น 1,816 จุด”

รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวทิ้งท้ายว่า กลยุทธ์การลงทุนในช่วง 4Q64 แนะนำสะสมหุ้นใน 2 ธีมหลัก คือ Restart Economy และ Restructure SET50/100 เพื่อรองรับการเติบโตต่อเนื่องในปี 2565 พร้อมกับกระจายการลงทุนหลากหลาย Sector และเลือกมาเฉพาะหุ้นที่มีความโดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่ม อย่างเช่น ADVANC, AEONTS, CPALL, CPN, KBANK และ TOP” คุณเทิดศักดิ์ กล่าว

คุณภาดร สุขสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ บล.เอเซีย พลัส มองว่า ตลาดลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ก็ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ ก็ส่งผลให้เศรษฐกิจในแต่ละที่ฟื้นตัวไม่พร้อมกัน ความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวไปก่อนหน้านี้ก็เริ่มลดความร้อนแรงลง ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงกลางและต้นของการฟื้นตัวตามลำดับ อีกทั้งเศรษฐกิจโลกกำลังก้าวเข้าสู่วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น และสภาพคล่องในระบบการเงินที่ลดลง

“กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จึงมองไปที่การกระจายการลงทุนโดยลดสัดส่วนหุ้นสหรัฐฯ ที่มี Valuation ที่ค่อนข้างตึงตัวเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นๆ ลง และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นที่ valuation ยังไม่ตึงตัวมากนัก และมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวร่วมด้วย เช่น ยุโรปและญี่ปุ่น และเลือกเข้าลงทุนในธุรกิจที่มองเห็นภาพการลงทุนที่ชัดเจน ซึ่งได้แก่ ธีมพลังงานสะอาด จากการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานเก่า สู่พลังงานทางเลือกอื่นๆ หลังผู้นำในหลายๆประเทศทั่วโลกเริ่มตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศตนเองอย่างจริงจัง” คุณภาดร กล่าว

ส่วน คุณกฤตยภรณ์ ธาดาสีห์ หัวหน้าฝ่ายลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ บล.เอเซีย พลัส กล่าวเสริมว่า ในส่วนของการลงทุนต่างประเทศ ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและการขับเคลื่อนอัจฉริยะได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ประกอบกับแนวทางที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกเร่งการตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนให้เป็น 0% ไม่ว่าจะเป็นฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ที่ตั้งจุดมุ่งหมายลดคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2050 และ 2060 ตามลำดับ ด้วยนโยบายที่ภาครัฐฯ เร่งผลักดัน ในเชิงของการสนับสนุนบริษัทผู้ผลิตพลังงานสะอาด และสร้างบทลงโทษบริษัทผู้ผลิตพลังงานเสีย นอกจากนี้ แนวทางดังกล่าวประกอบกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีขับเคลื่อนช่วยสนับสนุนกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการขับเคลื่อนอัจฉริยะให้เติบโตได้ในระยะยาว

“เรามองไปยังการลงทุนในกลุ่มดังกล่าวตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผลิตแผงโซลาร์ ผลิตกังหันลม กลุ่มผลิตและออกแบบชิพประมวลผลหรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับการพัฒนาพลังงานสะอาด และรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีพลังงานสะอาด (Clean Tech) และระบบ AI ที่พัฒนาการขับเคลื่อนอัจฉริยะซึ่งได้รับความนิยมในขณะนี้ เราเล็งเห็นโอกาสการลงทุนกลุ่มนี้ผ่านตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ซึ่งถือเป็นการลงทุนล้อไปกับเทรนด์ระดับโลก ที่จะเข้ามามีความสำคัญมากขึ้นทั้งในระดับประเทศ ระดับธุรกิจ รวมถึงครัวเรือน” คุณกฤตยภรณ์ กล่าวปิดท้าย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment