วันงดสูบบุหรี่โลก “บุหรี่ตัวร้าย ทำลายหัวใจ” (Tobacco Break Heart)

องค์การอนามัยโลก ริเริ่มให้จัดงานวันงดสูบบุหรี่โลก “World No Tobacco Day” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 เนื่องจากเล็งเห็นถึงภัยอันตรายของบุหรี่และสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ รวมถึงผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่ด้วย จึงได้จัดงานวันงดสูบบุหรี่โลก เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ และตระหนักถึงปัญหาของการสูบบุหรี่ รวมถึงให้รัฐบาลแต่ละประเทศกำหนดนโยบายและกฎหมายเพื่อควบคุมยาสูบ

องค์การอนามัยโลก ระบุ “การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้” และได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยปีนี้ ใช้คำขวัญวันงดสูบบุหรี่ว่า “บุหรี่ตัวร้าย ทำลายหัวใจ” (Tobacco Break Heart)

รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสูญเสียจากการสูบบุหรี่ในหลายด้าน จึงได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ พร้อมทั้งออกกฎหมายควบคุมยาสูบ และกำหนดมาตรการต่างๆ โดยล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้ออกพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ และเน้นคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่

ที่มา: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/039/27.PDF

การค้นพบยาสูบ กระทั่งมาเป็นบุหรี่

ยาสูบมีต้นกำเนิดอยู่บริเวณตอนกลางของทวีปอเมริกา แม้มนุษย์จะรู้จักยาสูบมาเป็นพันปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้ใช้ยาสูบจนเป็นนิสัย กระทั่งพวกอินเดียนแดงชาวพื้นเมืองของอเมริกาได้เริ่มใช้ยาสูบเป็นพวกแรก โดยนำยาสูบมาใช้เป็นยาและในพิธีกรรมต่างๆ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2035 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Chistopher Columbus) นักสำรวจและนักทำแผนที่ชาวอิตาลีผู้ค้นพบทวีปอเมริกา ได้เดินเรือไปขึ้นฝั่งที่ซาน ซัลวาดอร์ (San Salvador) (ประเทศเอลซัลวาดอร์ในปัจจุบัน) และได้พบเห็นชาวพื้นเมืองนำเอาใบไม้ชนิดหนึ่งมามวนและจุดไฟสูบควัน ซึ่งชาวสเปนเรียกยามวนนี้ว่า ซิการา (Cigara) ต่อมาได้เพี้ยนเป็น ซิการ์ (Cigar)

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้นำใบยาสูบพร้อมเมล็ดพันธุ์กลับมายังยุโรปด้วย แต่ในตอนนั้นยังไม่มีใครได้ลองสูบใบยาสูบนี้ จนกระทั่งช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 นาย ฌอง นิโกต์ (Jean Nicot) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำโปรตุเกสได้ส่งเมล็ดยาสูบมายังราชสำนักฝรั่งเศส ชื่อของนายนิโกต์ จึงกลายมาเป็นชื่อสารนิโคติน (Nicotine) สารเคมีให้โทษชนิดหนึ่งในบุหรี่นั่นเอง

จากนั้นยาสูบจึงเริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เช่นโปรตุเกส สเปน อังกฤษ และประเทศในแถบเอเชีย

ในประเทศไทย แม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีการใช้ยาสูบเมื่อใด แต่ถ้านับจากหลักฐานทางลายลักษณ์อักษรจากจดหมายเหตุของ ซิมง เดอลาลูแบร์ (Simon De La Loube’re) ราชทูตของฝรั่งเศสที่เดินทางมาประเทศไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ได้บันทึกเรื่องราวในสมัยนั้นไว้ว่า คนไทยสูบยากันทั่วไป ทั้งหญิงและชายนิยมยาสูบอย่างฉุนที่ได้มาจากเมืองมะนิลา ประเทศจีน และที่ปลูกเองในประเทศ

ลักษณะการสูบยาของคนไทย คือ หั่นใบยาสูบแล้วมวนด้วยใบตอง ใบจาก หรือใบบัวตากแห้ง บ้างก็สูบจากกล้องหรือเคี้ยวเส้นยาสูบ บางคนนิยมบดเป็นผงแล้วสูดเข้าจมูกแบบยานัตถุ์

ครั้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการตั้งบริษัทผลิตบุหรี่ของชาวอังกฤษขึ้นเป็นครั้งแรก ผลิตบุหรี่โดยใช้การมวนด้วยมือและตัดยาเส้นให้พอดีกับวัสดุที่ใช้มวน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนั้น

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เริ่มนำเครื่องจักรเข้ามาจากประเทศเยอรมนี เพื่อผลิตบุหรี่ออกจำหน่าย ทำให้การสูบบุหรี่เป็นที่แพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

การสูบบุหรี่ในอดีต

ในอดีต คนทั่วไปเชื่อกันว่าการสูบบุหรี่นั้นมีประโยชน์และสามารถช่วยรักษาโรคบางอย่างได้ตามโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทผลิตยาสูบทั้งหลาย เช่น สูบบุหรี่แล้วช่วยรักษาอาการไข้หวัด ไอ และเจ็บคอ ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย แม้กระทั่งแพทย์ก็ยังเลือกสูบบุหรี่ หรือสามารถมอบให้เป็นของขวัญสำหรับลูกน้อยได้อีกด้วย

คนไทยสมัยก่อนเชื่อกันว่า ใบยาสูบสามารถรักษาโรคได้ เช่น ใช้ใบรักษาฝี ห้ามเลือด หรือสูบเพื่อช่วยบรรเทาโรคหืด หากนำใบไปบดสามารถใช้ทำยาฆ่าแมลงได้อีกด้วย

เนื่องจากช่วงแรกนั้นคนส่วนใหญ่ไม่รู้ถึงภัยอันตรายของยาสูบหรือบุหรี่ กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง วงการแพทย์สหรัฐอเมริกาและอังกฤษพบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่สันนิษฐานกันว่าอาจจะมาจากควันรถยนต์ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

กระทั่งในปี พ.ศ. 2493 นายแพทย์เซอร์ริชาร์ด โดล จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ค้นพบว่า สาเหตุการเกิดมะเร็งปอดมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ แต่รายงานดังกล่าวไม่มีผล คนทั่วโลกก็ยังคงสูบบุหรี่กันต่อไป

ต่อมาใน พ.ศ. 2505 ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ในกรุงลอนดอนได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า การสูบบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอดและโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ การประกาศดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วทั้งอเมริกา เนื่องจากขณะนั้นมีผู้สูบบุหรี่มากถึง 50 ล้านคน แม้การประกาศครั้งนั้นจะทำให้คนทั่วโลกเริ่มตื่นตัว แต่ธุรกิจบุหรี่และยาสูบนั้นมีมูลค่ามหาศาล บรรดาผู้ผลิตไม่ยอมสูญเสียรายได้ไปแน่ ทำให้บริษัทผู้ผลิตต่างก็ต้องงัดกลเม็ดต่างๆ มาโฆษณาชวนเชื่อว่าบุหรี่ยังคงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาทิ ถ้าบุหรี่มีก้นกรองที่ดี หรือหากมีการกรองที่ถูกต้องก็จะไม่เป็นอันตราย

พ.ศ. 2507 นายแพทย์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ลูเธอร์ แอล เทอร์รี่ พร้อมคณะทำงาน ได้ทำรายงานสรุปว่า การสูบบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด โรคปอดเรื้อรังและโรคหัวใจ การประกาศส่งผลกระทบกับสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกอย่างมาก เพราะในขณะนั้นอุตสาหกรรมบุหรี่และยาสูบได้ขยายไปทั่วโลก อีกทั้งรัฐบาลประเทศต่างๆ ล้วนสนับสนุนการปลูกยาสูบและโรงงานยาสูบ เนื่องจากเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลก็ต้องเปลี่ยนจากการสนับสนุนมาเป็นการควบคุมแทน

สถิติผู้สูบบุหรี่

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุ การแพร่ระบาดของผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 7 ล้านคนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองเกือบ 900,000 คน และเกือบ 80% ของผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกกว่า 1 พันล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งจะเป็นภาระที่หนักมาก หากป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่

ส่วนประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลในปี 2557 พบว่ามีคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มากถึง 51,651 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 จำนวน 941 คน และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มโรค อาทิ โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ หลอดเลือด และโรคอื่นๆ

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยสถิติการวิเคราะห์ขององค์การอนามัยโลก ระบุ โดยเฉลี่ยเมื่อคนไทย 1 คนเสียชีวิตด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ จะยังมีคนไทยที่ป่วยด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ 20 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ นั่นหมายความว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 50,000 คนต่อปี จะมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ที่ยังมีชีวิตอยู่มากกว่า 1 ล้านคน นับเป็นความสูญเสียมหาศาลในด้านค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ทั้งผู้ป่วยหนัก เป็นโรคร้ายแรง โรคมะเร็งที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก รวมถึงภาระความแออัดในสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยเหลือและช่วยกันรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่อย่างจริงจัง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยแล้ว ยังลดปัญหาความยากจนและภาระงบประมาณที่รัฐบาลต้องสูญเสียไปกับการรักษาพยาบาลอีกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูล

http://www.ashthailand.or.th/th/data_center_page.php?id=445

http://www.thaitobacco.or.th/th/2015/01/006812.html

http://edition.cnn.com/US/9705/tobacco/history/

http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsrbeta/FileUpload/PDF/Report-File-527.pdf

http://www.who.int/mediacentre/events/2018/world-no-tobacco-day/en/


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment