ศก.ไทยยังชะลอ

คลังระบุเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.2563 ยังมีแนวโน้มชะลอตัว แม้ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน หลังคลายล็อกดาวน์ อุปสงค์ภายในประเทศดีขึ้น แต่การส่งออกยังไม่ดี

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน 2563 ยังมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น หลังจากมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนในหมวดการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ด้านอุปสงค์ภายนอกประเทศที่สะท้อนผ่านการส่งออกสินค้าและบริการยังคงชะลอตัว สอดคล้องกับด้านอุปทานที่ชะลอตัวลงในภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยว

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัว สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 41.4 หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ทำให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ประกอบกับผลของมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ช่วยให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อย่างไรก็ดี การบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ยังคงชะลอตัว แต่มีอัตราการชะลอตัวที่ลดลง

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ การลงทุนในหมวดการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนเช่นกัน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์กลับมาขยายตัว การจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวในอัตราชะลอลงที่ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ร้อยละ -2.9 ต่อปี โดยมีปัจจัยสําคัญจากการลดลงของราคาในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นสำคัญ

เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอตัวร้อยละ -23.2 ต่อปี จากการลดลงของการส่งออกสินค้าในหมวดสำคัญ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานชะลอตัว พบว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคท่องเที่ยวยังคงชะลอตัว สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวร้อยละ -17.7 ต่อปี จากการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง และพลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมโรคระบาดของภาครัฐ ทำให้ภาคเอกชนสามารถกลับมาดำเนินการธุรกิจได้มากขึ้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -1.6 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.0 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 44.0 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 241.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment