“ดาวพลูโต” ไม่ได้หายไปไหน

“ดาวพลูโต” ไม่ได้หายไปไหน 

19 มีนาคม 2458 ดาวพลูโต ดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) ที่เคยถูกจัดเป็นดาวเคราะห์(Planet) ดวงที่ 9 ของระบบสุริยะ ปรากฏในภาพถ่ายเป็นครั้งแรก ก่อนจะถูกค้นพบโดย ไคลด์ ทอมโบ (Clyde Tombaugh) นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน ในอีก 15 ปีถัดมา

ปี 2449 เปอร์ซิวัล โลเวลล์ (Percival Lowell) นักดาราศาสตร์และนักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งหอดูดาวโลเวลล์ในเมืองแฟลกสแตฟฟ์ รัฐแอริโซนา ได้เริ่มภารกิจการค้นหาดาวเคราะห์ดวงที่ 9 และได้ตั้งชื่อไว้ว่า "ดาวเคราะห์ X" โลเวลล์อุทิศตนนับทศวรรษเพื่อค้นหาดาวเคราะห์ดวงที่ 9 จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2459 

ก่อนการเสียชีวิตของโลเวลล์ คณะสำรวจของเขาได้ถ่ายภาพเบลอของดาวพลูโตสองภาพ ภาพแรกถ่ายเมื่อวันที่ 19 มีนาคม และอีกภาพถ่ายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2458 แต่พวกเขากลับไม่พบอะไรในภาพถ่าย

จนกระทั่งปี 2472 ไคลด์ ทอมโบ นักดาราศาสตร์วัยหนุ่มได้สานต่อความตั้งใจของโลเวลล์ โดยการนำภาพถ่ายในอดีตมาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายในปัจจุบันว่ามีวัตถุใดในภาพเหล่านั้นที่เปลี่ยนตำแหน่งบ้าง ในที่สุดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2473 เขาค้นพบดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของระบบสุริยะ หรือ ดาวพลูโตนั่นเอง 

ในปี 2549 หลังจากการเสียชีวิตของ ไคลด์ ทอมโบ เป็นเวลา 9 ปี สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union) หรือ IAU ซึ่งเป็นองค์กรของนักดาราศาสตร์อาชีพทั่วโลก ได้ประชุมเพื่อจัดระเบียบดวงดาวในระบบสุริยะใหม่ และมีมติให้ลดสถานะดาวพลูโตจาก “ดาวเคราะห์” เป็น “ดาวเคราะห์แคระ” 

เนื่องจากในปี 2548 นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดวงดาวอีกหลายดวงที่อยู่ถัดจากวงโคจรของดาวเนปจูนออกไปหรือที่เรียกว่าแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ซึ่งดาวพลูโตก็อยู่ในแถบไคเปอร์นี้ด้วยเช่นกัน ทำให้มีข้อถกเถียงถึงสถานะของดาวพลูโต เพราะมีการค้นพบดาวดวงใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าหรือเท่ากับดาวพลูโต รวมถึงสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้กำหนดนิยามใหม่ของดาวเคราะห์ว่า “ต้องเป็นวัตถุทรงกลมที่โคจรรอบดวงอาทิตย์และไม่มีวัตถุอื่นที่มีขนาดใกล้เคียงอยู่ในวงโคจรของตัวเอง” 

จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือ IAU ตัดสินใจลดสถานะของดาวพลูโตจาก “ดาวเคราะห์” เป็น “ดาวเคราะห์แคระ” พร้อมอ้างว่า ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องเรียกวัตถุขนาดใหญ่คล้ายดวงดาวอีกหลายดวงว่า ดาวเคราะห์เช่นกัน 

ประเด็นการลดสถานะของดาวพลูโต เริ่มกลับมามีข้อถกเถียงอีกครั้ง หลังจากยานนิวฮอไรซันส์ (New Horizons) ที่ถูกปล่อยออกจากห้วงอวกาศเมื่อปี 2549 ได้เดินทางเฉียดดาวพลูโตในระยะเพียง 12,500 กิโลเมตรในปี 2558 และได้เก็บภาพดาวพลูโตมาอย่างชัดเจน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลต่างๆ ของดาวพลูโตมากมาย เช่น ดาวพลูโตมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าดาว ERIS และค้นพบดวงจันทร์เป็นบริวารถึง 5 ดวงหรืออาจจะมากกว่านี้ รวมไปถึงพบภูเขาน้ำแข็งบนที่ราบซึ่งนั่นหมายถึงบนดาวพลูโตมีน้ำจริงๆ แม้จะไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ตื่นเต้นไม่น้อย เนื่องจากไม่เคยพบภูเขาน้ำแข็งแบบนี้บนดาวดวงอื่นๆ เลย

จากหลักฐานเหล่านี้ ทำให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NASA ไม่เห็นด้วยกับมติของ IAU และกำลังพยายามทำให้ดาวพลูโตกลับมามีสถานะเป็น “ดาวเคราะห์” อีกครั้ง 

โดย อลัน สเติร์น (Alan Stern) นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญในภารกิจส่งยานนิวฮอไรซันส์ไปดาวพลูโต เคยให้สัมภาษณ์กับ Business Insider Australia 2015 ว่า ทำไมสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลถึงเชื่อนักดาราศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับเทหวัตถุบนท้องฟ้าและปรากฏการณ์ในอวกาศ มากกว่านักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์อย่างพวกเขา ที่ศึกษาเฉพาะดาวเคราะห์และดวงจันทร์บริวารเท่านั้น

สเติร์นและกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้กำหนดนิยามของดาวเคราะห์ขึ้นมาใหม่และส่งไปให้ IAU พิจารณาว่า ดาวเคราะห์คือเทหวัตถุที่ไม่ใช่ดาวฤกษ์และมีแรงโน้มถ่วงที่สามารถทำให้ตัวเองมีรูปร่างเป็นทรงกลมโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวกับวงโคจรของมัน หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ดาวเคราะห์เป็นวัตถุทรงกลมในอวกาศที่มีขนาดเล็กกว่าดาวฤกษ์ 

หากนิยามใหม่นี้ได้รับการยอมรับจากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล จะทำให้ดาวพลูโตกลับมาเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอีกครั้งหนึ่ง แต่ IAU จะยอมกลืนน้ำลายตัวเองหรือเปล่า นั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

#ดาวพลูโต #สำนักข่าวสับปะรด


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment