{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้มีการกำหนดการกระทำที่มีลักษณะเป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย ได้แก่การหลอกลวงทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อให้มีการทำประกันภัยหรือต่ออายุสัญญาประกันภัย การเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริต หรือการแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน รวมถึงให้ความช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการกระทำโดยทุจริตนั้น การให้สินบนบริษัทประกันภัยเพื่อทำให้เกิดการเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ไม่สมควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงผู้ที่เรียกร้องเอาสินบนเพื่อการเดียวกันนั้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมประกันภัย
ดังนั้น เพื่อให้การกำกับดูแลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับมีการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบ พฤติกรรม และลักษณะของการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และการประสานงานกับภาคธุรกิจประกันภัยเพื่อสร้างบทบาทเชิงรุกในการกำกับดูแลการฉ้อฉลประกันภัย สำนักงาน คปภ. จึงนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯ เพื่อพิจารณาหลักการของร่างประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเกี่ยวกับการรายงาน พฤติกรรมฉ้อฉลประกันภัย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการของร่างประกาศ คปภ. เรื่องให้บริษัทประกันภัยยื่นรายงานเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย ทั้งในส่วนประกันชีวิตและในส่วนของประกันวินาศภัย โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. ให้บริษัทประกันภัยนำส่งรายงานผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการเรื่องการฉ้อฉลประกันภัยของบริษัทเนื่องจากการกระทำความผิดที่อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยตามที่กำหนดเอาไว้ในกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิตและกฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัยอันอาจเกิดจากบุคลากรของบริษัทประกันภัยเอง หรือลูกค้าของบริษัทประกันภัยที่ได้ทำการฉ้อฉลประกันภัยกับบริษัทประกันภัย เพื่อให้สามารถวิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรมการฉ้อฉลประกันภัย และกำหนดแนวทางในการยับยั้ง ป้องกัน ตรวจสอบ รายงานและบรรเทาความเสียหายจากการฉ้อฉล โดยกำหนดให้บริษัทประกันภัยรายงานภายใน 15 วันนับแต่วันสุดท้ายของแต่ละไตรมาส
2. ให้บริษัทนำส่งรายงานพฤติกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัยตามที่นายทะเบียนประกาศกำหนด ได้แก่ พฤติกรรมในขณะขอเอาประกันภัย เช่น ทำประกันภัยในวงเงินที่ไม่สัมพันธ์กับรายได้ หรือเอกสารประกอบการขอเอาประกันภัยไม่สอดคล้องกับที่ได้มีการกรอกในเอกสารขอทำประกันภัย พฤติกรรมในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย เช่น ขอเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ในทันทีที่กรมธรรม์ประกันภัยเริ่มต้นคุ้มครอง พฤติกรรมในขณะที่เรียกร้องเงินหรือค่าสินไหมทดแทน เช่น ขอให้ชดใช้เงินเป็นการโอนเงินข้ามประเทศ หรือกระจายไปหลายบัญชี หรือเรียกร้องให้ชดใช้เงินจากการเสียชีวิตภายหลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคร้ายแรง พฤติกรรมเฉพาะของสัญญาประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย เช่น ผู้รับผลประโยชน์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของผู้เอาประกันภัยในสัญญาประกันชีวิต หรือสถานที่เกิดความเสียหายแก่รถยนต์เกิดขึ้นในบริเวณชนบทหรือไม่มีพยานรู้เห็นเหตุการณ์ พฤติกรรมของบุคลากรภายในบริษัท เช่น มีฐานะทางการเงินดีขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ชัดเจน หรือมีการเปลี่ยนแปลงบุคลากรในด้านการเงินหรือการบัญชีบ่อยครั้ง พฤติกรรมของตัวแทนประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัย หรือบุคคลภายนอก เช่น ตัวแทนประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัยปลอมแปลงเอกสารของผู้เอาประกันภัย มีผู้ออกทุนให้มีการทำสัญญาประกันภัยโดยระบุผู้รับประโยชน์เป็นผู้ออกทุน บุคคลากรทางการแพทย์มีการออกเอกสารรับรองเท็จให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ โดยกำหนดให้บริษัทรายงานภายใน 15 วันนับแต่วันสุดท้ายของแต่ละไตรมาส
ทั้งนี้ บริษัทประกันภัย สามารถยื่นรายงานในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามช่องทางที่นายทะเบียนกำหนด และในกรณีที่บริษัทมีเหตุสุดวิสัย หรือประเทศประสบภัยพิบัติร้ายแรงหรือมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสาธารณชน ทำให้บริษัทไม่สามารถยื่นรายงานภายในกำหนดเวลาได้ ให้บริษัทแจ้งเหตุขัดข้องให้สำนักงานทราบ และเมื่อพฤติการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถยื่นรายงานนั้นสิ้นสุดลงแล้ว ให้บริษัทยื่นรายงานต่อสำนักงานภายใน 15 วันนับแต่วันที่พฤติการณ์หรือเหตุการณ์นั้นสิ้นสุดลง หรือตามระยะเวลาที่สำนักงาน คปภ. กำหนด
สำนักงานฯ จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียผ่านทางเว็บไซด์สำนักงาน คปภ.(www.oic.or.th) ในระหว่างวันที่ 1-15 มิถุนายน 2563 เพื่อนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ ไปปรับปรุงร่างประกาศฯ ให้มีความสมบูรณ์ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการฯ (บอร์ด คปภ.) พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป และในทางคู่ขนานจะบูรณาการร่วมกับทุกสมาคมด้านประกันภัยในการยกร่างแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัย เพื่อให้ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS