สุขภาพจิตวัยรุ่นในยุคที่โลกหมุนเร็ว World Mental Health Day

วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นเป็นวัยที่กำลังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต ทั้งย้ายโรงเรียน เข้ามหาวิทยาลัย เริ่มงานใหม่ สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตอาจเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับหลายคน แต่สำหรับบางคนแล้ว ของแถมที่ตามมากับความตื่นเต้นก็คือความเครียดและความวิตกกังวล

ในยุคที่โลกหมุนเร็ว แม้ว่าการแพร่หลายของเทคโนโลยีจะมีประโยชน์มหาศาล แต่ในขณะเดียวกัน ความสามารถในการเชื่อมต่อทุกที่ทุกเวลา ตลอดทั้งวันทั้งคืน อาจนำมาซึ่งความกดดันต่างๆ

อาการเริ่มต้นของความเจ็บป่วยทางจิตของผู้ป่วยกว่าครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 14 ปีซึ่งกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น หากไม่ได้รับการป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธี ก็อาจนำไปสู่อาการป่วยทางจิตในระยะยาวได้ การป้องกันทำได้โดยเริ่มต้นจากการสังเกตและทำความเข้าใจอาการเบื้องต้นของการป่วยทางจิตโดยพ่อแม่ เพื่อน ครูอาจารย์ คนใกล้ชิด รวมถึงชุมชนและรัฐบาลควรมีส่วนร่วมกับสังคมและชุมชนในการใส่ใจสุขภาพจิตของวัยรุ่นให้มากขึ้น

สุขภาพจิตของวัยรุ่นในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คือประเด็นที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญเนื่องในวันสุขภาพจิตโลกในปีนี้

วันสุขภาพจิตโลก ถูกกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2535 โดย ริชาร์ด ฮันเตอร์ (Richard Hunter) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของสหพันธ์สุขภาพจิตโลก (World Federation for Mental Health: WFMH)

ต่อมา องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) เพื่อให้ประชาคมโลกตระหนักถึงประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพจิต รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสุขภาพจิตได้ร่วมพูดคุยถึงแนวทางในการดูแลสุขภาพจิตแก่คนทั่วโลก

โรคจิตคืออะไร

โรคจิต คือการเจ็บปวดทางจิตใจแบบหนึ่ง ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบที่แยกย่อยไปตามอาการเด่นของแต่ละชนิด เช่น ความผิดปกติทางอารมณ์ พฤติกรรม หรือความผิดปกติทางความคิด ความจำ ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นโรคจิตจะไม่รู้ว่าตัวเองผิดปกติ และจะเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองว่าเป็นเรื่องจริง ไม่เคยสงสัยเลยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงหรือไม่น่าจะเป็นไปได้ อาการของโรคจิตนั้นจะแบ่งได้ 3 อาการหลัก ดังนี้

1. อาการหลงผิด (Delusion) เป็นความผิดปกติทางความคิด ทำให้ผู้ป่วยมีความเชื่ออย่างผิดๆ และฝังแน่นอยู่ในใจ ซึ่งความเชื่อนี้ไม่สามารถหาคำอธิบายได้ตามหลักความเป็นจริง แต่ผู้ป่วยก็เชื่ออย่างสนิทใจกับความเชื่อและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เช่น หลงผิดคิดว่ามีคนมาปองร้าย มีคนมาหลงรัก หรือคิดว่าตัวเองร่ำรวยเป็นคนใหญ่คนโต เป็นต้น

2. อาการประสาทหลอน (Hallucination) เป็นความผิดปกติทางการรับรู้จากสัมผัสทั้ง 5 คือ การรับรู้ทางรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส โดยไม่มีสิ่งเร้าจริงๆ เกิดขึ้น เช่น อาการหูแว่ว เกิดภาพหลอนว่ามีคนกำลังจะมาทำร้าย รู้สึกว่ามีอะไรมาชอนไชตามผิวหนัง เป็นต้น

3. พฤติกรรมผิดไปจากเดิมอย่างมาก เช่น เก็บตัวอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไรเลย ไม่หลับไม่นอน ก้าวร้าว ร้องตะโกนโวยวายไปตามท้องถนน เป็นต้น

โรคจิตมีกี่ชนิด

โรคจิตมีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดแบ่งออกเป็นกลุ่มอาการย่อยๆ ลงไปอีก แต่ที่พบบ่อยนั้นมีอยู่ 6 ชนิด คือ

1. โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นโรคจิตที่มีอาการรุนแรงที่สุด มีความเรื้อรัง และเป็นโรคจิตชนิดที่พบบ่อยที่สุด อาการที่พบบ่อย เช่น หูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด

2. โรคหลงผิด (Delusional Disorder) เช่น คิดว่ามีคนมาปองร้าย ฯลฯ

3. โรคจิตที่เกิดจากยาและสารเสพติด (Substance-induced Psychosis)

4. โรคจิตที่เกิดจากโรคอารมณ์แปรปรวน (Schizoaffective disorder) มีอาการของโรคจิตร่วมไปกับอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน เช่น โรคไบโพลาร์ โรคซึมเศร้า เป็นต้น

5. โรคจิตชนิดเฉียบพลัน (Acute psychosis) จะมีอาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นอย่างน้อย 1 วัน แต่เป็นอยู่ไม่เกิน 1 เดือน ก็หายเป็นปกติ

6. โรคจิตที่เกิดจากโรคทางร่างกาย (Organic Psychotic Conditions) เป็นผลมาจากโรคของสมอง หรือโรคทางกายอื่นๆ ส่งผลให้การทำงานของสมองผิดปกติไป ทำให้เกิดอาการทางจิตได้ทุกรูปแบบ เช่น ผิดปกติในอารมณ์ บุคลิกภาพ และการรับรู้ความรู้สึกต่างๆ

นอกจากนี้ โรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยมากที่สุด คือโรคซึมเศร้า (Depression) จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า ปัจจุบันมีคนทั่วโลกกว่า 300 ล้านคนในทุกเพศทุกวัยกำลังประสบภาวะซึมเศร้า ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 18% ในช่วงระหว่างปี 2548-2558

โรคซึมเศร้าเป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ ที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่มีชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) เมื่อสารเคมีดังกล่าวมีปริมาณน้อยลงจากเดิม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งทางร่างกาย จิตใจและความคิด โดยอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย เช่น มีปัญหาในการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคม หรือมีความคิดทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งหากไม่รีบรักษาอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุ ทุกๆปีมีคนทั่วโลกฆ่าตัวตายเกือบ 800,000 คน ซึ่งการฆ่าตัวตายจัดเป็นสาเหตุอันดับสองของการเสียชีวิตในช่วงอายุ 15-29 ปี

สำหรับประเทศไทย กรมสุขภาพจิต เปิดเผยข้อมูลปี 2560 มีคนไทยถึง 1.5 ล้านคน ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า นับเป็นสถิติที่สูงขึ้น 400,000 ราย จากสถิติปี 2557 หรือ 36% ในรอบ 3 ปี และพบว่าคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 1 คน ในทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง ซึ่งโรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย

ผู้ป่วยทางจิต ไม่ใช่ผู้ป่วยที่น่ารังเกียจตามความเข้าใจผิดๆ และอคติของคนที่มีต่อผู้ป่วย หากผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยและคนทั่วไปเข้าใจ และพร้อมให้โอกาสผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยไม่คิดว่าตัวเองมีตราบาปในชีวิต การช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมนั้นจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเลย

ขอขอบคุณข้อมูล

http://www.who.int/mental_health/world-mental-health-day/2018/en/

http://www.who.int/mental_health/world-mental-health-day/en/

http://haamor.com/th/โรคจิต/

https://www.honestdocs.co/psychosis

http://www.healthcarethai.com/โรคจิตจากสภาวะร่างกาย/

https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-0855

http://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/depression

https://www.bangkokhospital.com/index.php/th/diseases-treatment/depression-1


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment