ค่าเงินบาทเปิดเช้า 27 พฤษภาคม 2568 ที่ระดับ 32.58 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 27 พฤษภาคม 2568 ที่ระดับ 32.58 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.60 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.56-32.65 บาทต่อดอลลาร์) ท่ามกลางปริมาณการทำธุรกรรมในตลาดการเงินที่เบาบาง เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุด Bank Holiday ของตลาดการเงินอังกฤษ และวันหยุด Memorial Day ของตลาดการเงินสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ในช่วงเช้าของตลาดการเงินเอเชีย เงินบาทเริ่มทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง หลังเงินดอลลาร์ยังคงเผชิญแรงขายต่อเนื่อง จากธีม Sell US Assets (ซึ่งอาจดำเนินต่อไปได้ จนกว่าตลาดจะคลายกังวลความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และกลับมามั่นใจในแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น) ขณะเดียวกัน ราคาทองคำ (XAUUSD) ก็ทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสู่โซนแนวต้าน 3,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง หนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นและมีโอกาสทดสอบโซนแนวรับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ในวันนี้

แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปิดทำการเนื่องในวันหยุด Memorial Day ทว่า การชะลอปรับขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 50% กับสินค้าจากยุโรป ก็มีส่วนหนุนให้บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ได้ สะท้อนจากสัญญาฟิวเจอร์สของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นราว +1.0%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.99% หลังทางการสหรัฐฯ ได้ชะลอการปรับขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 50% กับสินค้าจากยุโรป ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อแนวโน้มนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ลงบ้าง ดังจะเห็นได้จากการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มยานยนต์ และกลุ่มเทคฯ เป็นต้น

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมแกว่งตัว Sideways ทว่าความกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ รวมถึงความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ยังคงหนุนธีม Sell US Assets กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลง โดยเฉพาะในช่วงเช้าของตลาดการเงินเอเชีย ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 98.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 98.9-99.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. 2025) สามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้านระยะสั้นอีกครั้ง หลังจากเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้างในช่วงบ่ายของวันก่อนหน้า โดยราคาทองคำยังคงได้แรงหนุนจากธีม Sell US Assets ที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเลือกถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง ทองคำ (รวมถึงเงินเยนญี่ปุ่น) ทำให้โดยรวม ราคาทองคำยังสามารถทรงตัวเหนือโซน 3,370 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) ในเดือนเมษายน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ในเดือนพฤษภาคม ที่อาจสะท้อนถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อาจปรับตัวดีขึ้น จากความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า รวมถึง รายงานดัชนีภาคธุรกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ อาทิ ดัชนีภาคการผลิตโดย Dallas Fed ในเดือนพฤษภาคม เช่นกัน พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในเดือนพฤษภาคม

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะติดตาม สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันก่อนหน้า ที่มีจังหวะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลุดโซนแนวรับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงเหนือโซน 32.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้ย้ำว่า ตลาดค่าเงินยังอยู่ในภาวะผันผวนสูง ทำให้เรายังคงแนะนำผู้เล่นในตลาดว่า ควรใช้กลยุทธ์ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลยุทธ์ Options และการพิจารณาใช้ Local Currency เนื่องจากบางสกุลเงิน อย่าง CNYTHB ก็มีความผันผวนที่ต่ำกว่า USDTHB อย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงเช้าของตลาดการเงินเอเชีย เงินดอลลาร์จะกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง พร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ทำให้เงินบาทเสี่ยงแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ และอาจแข็งค่าทะลุโซนดังกล่าวได้อีกครั้ง ทว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด ท่ามกลางแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าที่ยังคงมีอยู่ อย่าง โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ แรงซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายนเดือนจากฝั่งผู้เล่นในตลาด อย่าง ฝั่งผู้นำเข้า รวมถึงการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาด อย่าง การทยอยขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) ทำให้โซนแนวรับของเงินบาท หากทะลุโซน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้จริง ก็อาจอยู่แถว 32.30-32.40 บาทต่อดอลลาร์ เหมือนในวันก่อนหน้า ขณะที่โซนแนวต้านของเงินบาทนั้น อาจอยู่แถว 32.75-32.85 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งเรามองว่า อาจจะเป็นช่วงสัปดาห์หน้า ที่ตลาดการเงินจะรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ จนทำให้การเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ในตลาดการเงินมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น

เรายังคงมุมมองเดิมว่า ราคาทองคำยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง Two-Way risk ที่อาจทำให้เงินบาทสามารถเคลื่อนไหวแข็งค่า หรือ อ่อนค่าลงได้ ตามทิศทางราคาทองคำ เนื่องจากราคาทองคำ ก็ยังมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways เช่นกัน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทจะสามารถทยอยกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 33.20 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจนอีกครั้ง ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend Following

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น (บางสกุลเงินอาจมีความผันผวนต่ำกว่า USDTHB ชัดเจน เช่น CNYTHB) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.65 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment