{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า2 พฤษภาคม 2568 ที่ระดับ 33.57 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.41 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันที่ 30 เมษายน)
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา รวมถึงช่วงวันหยุด 1 พฤษภาคม เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในกรอบ 33.28-33.65 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ท่ามกลางความหวังว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส ก็มีส่วนหนุนบรรยากาศในตลาดการเงิน และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เงินดอลลาร์ยังได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50% ตามคาด พร้อมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจลง ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ทั้งนี้ แม้ว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงนี้ ส่วนใหญ่จะออกมาแย่กว่าคาด โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงาน อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP แต่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวกลับไม่ได้กดดันเงินดอลลาร์มากนัก โดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินยังคงเป็นปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์อยู่ ขณะที่ราคาทองคำก็เผชิญแรงเทขายต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยลดสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) โดยการปรับตัวลดลงของราคาทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนยิ่งกดดันให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดต่างมีความหวังว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.63%
ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาผสมผสาน ทว่า บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.23% อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดอาจคาดหวังแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดมากเกินไป (3-4 ครั้ง ในปีนี้) จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนัก ทำให้ เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นบ้าง และคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เท่านั้น
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ที่ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 146 เยนต่อดอลลาร์ หลังเงินเยนญี่ปุ่นได้ทยอยอ่อนค่าลงจากมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของ BOJ ในวันก่อน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้น สู่โซน 100.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.7-100.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ทว่า ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากการเข้าซื้อ Buy on Dip ของผู้เล่นในตลาดอยู่ ทำให้ ราคาทองคำสามารถรีบาวด์สู่โซน 3,250 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 1.3-1.4 แสนราย ส่วนอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) อาจทรงตัวที่ระดับ 4.2% ขณะที่อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ +3.9%y/y สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังดูดีอยู่ แม้จะชะลอตัวลงบ้างก็ตาม และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงาน (Factory Orders) เดือนมีนาคม ซึ่งอาจยังพอได้แรงหนุนจากการเร่งผลิตก่อนเผชิญมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ได้
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน เดือนเมษายน เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB)
และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ไปก่อนได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยเงินบาทอาจแกว่งตัวแถวโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว เรามองว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนบ้าง จากการทยอยรีบาวด์สูงขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งหากราคาทองคำสามารถรีบาวด์สูงขึ้นต่อได้ ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท นอกจากนี้ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อาจหนุนให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ดี ตราบใดที่เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน และความกังวลต่อนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยคลี่คลายลง ก็อาจยังคงกดดันให้เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าลงต่อได้ไม่ยาก อีกทั้งในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ เรามองว่า เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทจะกลับไปแข็งค่าเข้าใกล้โซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้งนั้น อาจต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แย่ลงกว่าคาดชัดเจน รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าที่กลับมาตึงเครียดมากขึ้น จนหนุนให้ ตลาดปิดรับความเสี่ยงและผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเข้าถือทองคำ รวมถึงเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
ทั้งนี้ เราขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ โดยสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาสะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) อาจมีกรอบการแกว่งตัว +/-1 SD ราว +0.58%/-0.31% ในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว 30 นาที
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.75 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ)
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS