8ปัจจัยเสี่ยงชีวอนามัย

เอ็นไอเอเผย 8 ปัจจัยเสี่ยงด้านชีวอนามัยที่อาเซียนต้องจับตาในปี 2030 พร้อมหนุนการพัฒนา “อนาคตศาสตร์” เพื่อเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดยสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (IFI) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะด้านอนาคตศาสตร์ และช่วยคาดการณ์ทิศทางอนาคตของประเทศไทยในมิติต่างๆ ได้ทำการสำรวจข้อมูลข้อมูลจากหัวข้อการสัมมนา “Biosecurity in ASEAN 2030” ในงานประชุมนานาชาติ “Asia-Pacific Future Network Conference” ครั้งที่ 5และวิเคราะห์แนวโน้มความปลอดภัยด้าน ชีวอนามัยของอาเซียนในปี 2030 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอาเซียนจะมีปัจจัยหลักสำคัญ 8 ประการที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทั้งทางด้านสุขภาพและสาธารณสุข และเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น การแพทย์และสุขภาพ ภาคสังคมต้องสรรหาแนวทางรับมือ ได้แก่

· การเพิ่มขึ้นของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการสรรหาพลังงานทดแทนจากสิ่งใหม่ๆ จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะการระบาดของเชื้อโรค เช่น การนำขยะมาพัฒนาเป็นของใช้ที่อาจมีการปนเปื้อนของสารเคมีและเชื้อโรค การใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็นจนขาดความหลากหลายทางชีวภาพและความไม่สมดุล เป็นต้น

· การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกนั้นเป็นปัจจัยที่เหมาะ แก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคและไวรัสต่างๆ และสถานที่ซึ่งไม่เคยมีการแพร่ระบาดก็จะเกิดการแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกยังทำให้เชื้อโรคและไวรัสที่ถูกแช่แข็งตั้งแต่ในอดีตถูกปลุกให้กลับมามีชีวิต

· การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ที่อาจจะเกิดขึ้นในบางประเทศ ซึ่งทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อโรคและไวรัสมีมากขึ้น นอกจากนี้ การที่ประชากรหนาแน่นยังทำให้ผู้คนต้องมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น จนเป็นเหตุให้การส่งผ่านเชื้อโรคต่างๆ สู่กันได้ง่าย เช่น การปนเปื้อนทางอาหาร การใช้บริการสาธารณะ

· การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของกลุ่มดังกล่าวที่มีความเสี่ยงทั้งต่ออุบัติภัย การเกิดโรคจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย การสร้างมลภาวะ รวมถึงการหลั่งไหลของประชากรที่เข้ามาทำงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากการเปิดประเทศ

· การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขยายตัวทางอุตสาหกรรม และการเกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่จะมีผลทำให้เชื้อโรคบางชนิดแฝงมากับกิจกรรมดังกล่าว รวมถึงการอุบัติของโรคที่ยังไม่มีคนรู้จัก และความต้านทานของไวรัสบางประเภทที่จะมีมากขึ้น โดยปัจจัยในข้อนี้มักจะมีผลกับพื้นที่สำคัญที่มีการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจ เช่น เมืองหลวง เมืองใหญ่ในระดับภูมิภาค เมืองอุตสาหกรรม และเมืองท่องเที่ยว

· การปฏิรูปการใช้ที่ดิน การพัฒนาและการใช้ที่ดินในกิจกรรมต่างๆ ทั้งในเมืองและชนบทอาจเป็นตัวขับเคลื่อนให้เชื้อโรคและไวรัส แพร่กระจายจากพื้นดินเข้าสู่อาคาร และสามารถแพร่ไปสู่อากาศได้มากขึ้น นอกจากนี้ การสูบน้ำจากใต้ดินเพื่อการอุปโภคบริโภคก็ยังเป็นพาหะนำโรคติดต่อต่างๆมาสู่คนและสัตว์ได้เช่นเดียวกัน

· การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การเดินทางที่มีความสะดวก ผนวกกับเทคโนโลยีการขนส่งที่มีความทันสมัย ทำให้เกิดการหลั่งไหลเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเดินทางในแต่ละครั้งจะนำพาเชื้อโรคและไวรัสต่างๆ จากจุดกำเนิดไปยังสถานที่ใหม่ ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อในภูมิภาคใหม่และแพร่ประจายได้อย่างรวดเร็ว

· การสูญพันธ์ของสัตว์และพืชพรรณบางชนิด จำนวนสิ่งมีชีวิตที่ลดลงอาจทำให้เชื้อโรคและไวรัสที่เคยใช้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเป็นแหล่งฟักตัวหรือเป็นแหล่งอาศัย เริ่มปรับตัวและหาที่อาศัยใหม่ เช่น จากพืชสู่สัตว์ จากสัตว์สู่คนมากขึ้น โดยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการเกิดโรคติดต่อที่เกิดจากคนสู่สัตว์เกิดขึ้นแล้วในหลาย ๆ ประเทศรวมถึงไทยและอาเซียน ซึ่งควรมีการวิจัยหรือการติดตามที่เป็นระยะ เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมและหาแนวทางป้องกันต่อไป

จากปัจจัยที่กล่าวมายังพบอีกว่า การระบาดของเชื้อแบคทีเรียและไวรัสมีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก โดยเฉพาะไข้อีโบลา (Ebola) โรคซาร์ส (SARS) ไวรัสซิกา (Zika) ไข้เหลือง (Yellow Fever) ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) และไวรัส อหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงและอันตรายในระดับสูง บางชนิดสามารถแพร่กระจายผ่านทางอากาศได้ เนื่องจากการเดินทางที่สะดวกมากยิ่งขึ้นทำให้การแพร่กระจายของเชื้อเกิดขึ้นได้เร็วกว่าในธรรมชาติหลายเท่า เป็นภัยคุกคามที่จะเกิดกับความปลอดภัยทางชีวอนามัยในอนาคต

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประชากรโลกต้องเผชิญกับความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์ดังกล่าวมักไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า และหลายครั้งยังขาดวิธีการรับมือที่เป็นรูปธรรมเนื่องจากขาดระบบคาดการณ์ที่มีประสิทธิภาพ การเก็บข้อมูล การใช้สถิติ รวมทั้งขาดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการมองอนาคตที่มีการดำเนินงานอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ประชากรโลกต้องตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ การพยากรณ์และการคาดการณ์การเกิดโรคจึงจำเป็นอย่างมากสำหรับทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งการพยากรณ์เหตุการณ์ของโรคภัยที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน มีความคล้ายคลึงกับการทำนายสภาพอากาศของประเทศ ที่จะช่วยให้เกิดการเตรียมการล่วงหน้า สามารถรับมือหรือออกมาตรการที่เหมาะสม รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี และเป็นผลดีต่อการสื่อสารความเสี่ยงและเตือนภัยการระบาดของโรคกับสาธารณชนได้เป็นอย่างดี


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment