ธนารักษ์ปรับใหญ่มุ่งสู่ "กรมเพิ่มมูลค่าและคุณค่าทรัพย์สินของแผ่นดิน”

กรมธนารักษ์พลิกบทบาทก้าวสู่ “กรมเพิ่มมูลค่าและคุณค่าทรัพย์สินของแผ่นดิน” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เดินหน้าประเทศสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ

ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมธนารักษ์ ประกาศยุทธศาสตร์และบทบาทใหม่ของกรมธนารักษ์ ในการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าทรัพย์สินของแผ่นดิน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้พี่น้องประชาชน ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ “VALUE” เพื่อให้เกิดการนำทรัพย์สินของแผ่นดินที่กรมฯ รับผิดชอบ ทั้งที่ราชพัสดุและเหรียญกษาปณ์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม พร้อมยกระดับการทำงานด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อช่วยจัดการวิเคราะห์ฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว แม่นยำ และโปร่งใส

แม้ที่ผ่านมากรมธนารักษ์ได้มีการพัฒนาและยกระดับการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยบริบทโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม กรมธนารักษ์จึงได้นำมิติต่างๆ มาพิจารณา เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น โดยใช้กลยุทธ์ ‘VALUE’ ประกอบด้วย 5 เสาหลัก ดังนี้

เสาที่ 1 V : Value กลยุทธ์เพิ่มมูลค่าและคุณค่าที่ราชพัสดุโดยจัดทำ Master Plan เพื่อพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวม เพื่อให้การจัดประโยชน์ใช้ที่ราชพัสดุเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ โดยในปี 2568 นี้ จะมีการทำพื้นที่ทดลอง Sandbox ในจังหวัดนครนายก หรือ นครนายกโมเดล เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบ นอกจากนั้น จะมีการประสานงานกับหน่วยงานที่ครอบครอง ที่ราชพัสดุด้วยการเพิ่มมูลค่าการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้กรมธนารักษ์ได้ตั้งเป้าเพิ่มรายได้และอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset) ในส่วนของที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์ให้สูงขึ้น 20% ภายในปี 2569

เสาที่ 2 A : Appraise กลยุทธ์เพิ่มความแม่นยําในการประเมินราคาที่ดินด้วยการพัฒนาฐานข้อมูลการประเมินราคาให้สอดคล้องกับราคาตลาดและเป็นธรรม โดยมีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ ในการประเมินราคาที่ดินเพื่อเพิ่มความถูกต้อง ทั้งนี้ กรมฯ ตั้งเป้าที่จะลดความต่างระหว่างราคาประเมินและราคาตลาดให้เหลือไม่เกิน 15% ภายในปี 2569 นอกจากนี้ กรมฯ จะพัฒนาระบบสืบค้นราคาประเมินที่ดินออนไลน์ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลราคาประเมินได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว

เสาที่ 3 L : Legacy กลยุทธ์เพิ่มคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้เหรียญกษาปณ์และพิพิธภัณฑ์ของกรมธนารักษ์ โดยจะมีการยกระดับการผลิตและจำหน่ายเหรียญกษาปณ์ให้เป็นมาตรฐานสากลและพัฒนาตลาดรองเพื่อเพิ่มมูลค่าเหรียญกษาปณ์ให้ตรงตามความต้องการของนักสะสมเหรียญ และนำแนวคิด ESG มาใช้ในกระบวนการผลิตเหรียญกษาปณ์เพื่อตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล นอกจากนี้ จะมีการบูรณาการร่วมกับชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์และอนุรักษ์วัฒนธรรม รวมถึงส่งเสริมให้พิพิธภัณฑ์ของกรมฯ สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนในพื้นที่และละแวกใกล้เคียง

เสาที่ 4 U : Unity กลยุทธ์ความเป็นหนึ่งเดียวของบุคลากร ส่งเสริมบุคลากรของกรมธนารักษ์ ให้ เก่ง ดี และมีความสุข ด้วยการเพิ่มเติมทักษะที่จำเป็นทั้งในเรื่องงาน Current Skill และ Future Skill จัดตั้งโรงเรียนธนารักษ์ออนไลน์ ส่งเสริมให้บุคลากรของกรมธนารักษ์เป็นคนดี ผ่านการนําองค์กรคุณธรรมมาใช้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซื่อสัตย์ ตรวจสอบได้ และยังส่งเสริมบุคลากรของกรมธนารักษ์ให้มีความสุข มีการสร้างองค์กรรมนียสถานที่เอื้อต่อการทํางาน และสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ

เสาที่ 5 E : Efficiency กลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการให้บริการประชาชน ด้วยการปรับกระบวนการทํางานให้คล่องตัวแบบ Agile และการนำเทคโนโลยีดิจิทัล การวิเคราะห์ข้อมูล และเอไอ (Digital, Data, AI) มาใช้ในการทำงาน โดยในปี 2568 นี้จะมีการพัฒนา ‘น้องรักษ์’ ซึ่งเป็นระบบ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่และยกระดับการให้บริการประชาชน ให้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะมีการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ รวมถึงลดขั้นตอนการทำงานต่างๆที่ไม่จำเป็น พร้อมทั้ง จะมีการกระจายอำนาจให้ธนารักษ์ภาค เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

สำหรับการดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าวในปีนี้ กรมธนารักษ์จะพัฒนาโครงการต้นแบบในรูปแบบต่างๆ อาทิ 1) โครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ต้นแบบ โดยมีชุมชนเป็นแกนกลางเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2) โครงการร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อนำที่ราชพัสดุมาใช้ประโยชน์ในการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชน 3) โครงการต้นแบบพัฒนาอาคารเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมเช่น โครงการพิพิธตลาดน้อยที่ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 4) โครงการต้นแบบพลังงานสะอาด อาทิ การทำฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ ในที่ราชพัสดุ การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร เป็นต้น


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment